กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 ถึงปัจจุบันมีจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน รวม 21 จังหวัด 72 อำเภอ 105 ตำบล 235 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหายรวม 2,593 หลังพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางซึ่งมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่โดยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2559 ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนรวม 21 จังหวัด 72 อำเภอ 105 ตำบล 235 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหายรวม 2,593 หลัง แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น บึงกาฬ อุดรธานี เลย หนองคาย สุรินทร์ ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม หนองบัวลำภู นครราชสีมา อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ภาคเหนือ5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประสบภัยนำเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคาและวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัย รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจ่ายเงินเยียวยาตามความเหมาะสมและสภาพความเสียหาย ภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งเก็บกวาด รื้อถอน เคลื่อนย้ายต้นไม้ เสาไฟฟ้าที่ล้มกีดขวางเส้นทาง เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้ตามปกติ และซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในวันนี้ (วันที่ 22 เมษายน 2559) พบว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป พายุฤดูร้อนมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่
ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้
ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาด หรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขา ใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ข่าวเด่น