นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ แนะนำผู้บริโภคใส่ใจการเลือกซื้อเนื้อสัตว์เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคว่า ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ สถานที่จำหน่ายต้องสะอาดถูกสุขลักษณะ อาทิ ตลาดสด ร้านค้าโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ที่รับเนื้อสัตว์จากโรงงานฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากพนักงานตรวจโรคสัตว์มาแล้ว ไม่ควรซื้อเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายข้างทางหรือรถเร่ ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาและอาจมีวิธีการฆ่าสัตว์และแปรรูปที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากพนักงานตรวจโรคสัตว์ รวมถึงไม่ซื้อเนื้อสัตว์ที่ราคาถูกเกินไป เพราะอาจเป็นเนื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นเนื้อจากสัตว์ที่ป่วยหรือตายจากโรคโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ
สำหรับวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ดี เช่น เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ ส่วนเนื้อไก่ที่สดต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมากหรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น และสังเกตที่ภาชนะที่บรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่
“ผู้บริโภคควรเลิกรับประทานลาบ หลู้ ส้า ที่ปรุงโดยใช้เนื้อหมูดิบ เลือดและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของหมูดิบ การปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ต้องทำให้สุกเท่านั้น โดยต้องปรุงที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อต่างๆที่อาจติดมากับเนื้อสัตว์ได้” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีได้รับการตรวจสอบและให้การรับรองจากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้าที่มีป้ายตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ป้ายเขียงสะอาด หรือสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ Q mark ที่ได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค
ข่าวเด่น