ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.เผยสารปนเปื้อนในอาหารแนวโน้มดีขึ้นยกเว้นเชื้อจุลินทรีย์ยังพบสูง


 


กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหาร มีแนวโน้มดีขึ้นใน 2 กลุ่มคือยาฆ่าแมลง สารเร่งเนื้อแดงลดลง  ส่วนสารบอแรกซ์ ฟอร์มัลดีไฮด์ สารกันรา สารฟอกขาวแนวโน้มคงที่ ที่เป็นปัญหามากคือการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในอาหาร พบถึงร้อยละ 11.91 เร่งรัดบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการเฝ้าระวัง ตรวจประเมิน และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน ให้อาหารในประเทศมีความปลอดภัย
 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการด้านอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ร่วมกันดำเนินการใน 5 ภารกิจหลัก ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา ตรวจสอบ ตรวจติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร การสื่อสารความเสี่ยงและสร้างเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร และมีระบบประสานงานกับหน่วยงานด้านอาหารปลอดภัยภายในประเทศ และเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (INFOSAN Secretariat) เพื่อรับมือความปลอดภัยด้านอาหารในภาวะฉุกเฉิน
 
 

ผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหาร 2 ส่วน คือ1.มาตรฐานของสถานที่ผลิตอาหารและจำหน่ายอาหาร อาทิ แปลงเพาะปลูก ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานผลิตอาหาร ตลาดค้าส่ง ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า/ ร้านอาหาร แผงลอย พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานประมาณร้อยละ 80  ส่วนที่ 2 เป็นการตรวจหาสารปนเปื้อนอันตราย ผลการเฝ้าระวังระหว่างปี 2551-2557 พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงมีแนวโน้มการปนเปื้อนลดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีการตกค้างของยาฆ่าแมลงร้อยละ 5.32 ลดลงเหลือร้อยละ 3.37 ในปี 2557 ส่วนสารเร่งเนื้อแดงลดลงจากร้อยละ 1.86 เหลือ 0.26 บอแรกซ์ ฟอร์มัลดีไฮด์ สารกันรา สารฟอกขาวมีแนวโน้มคงที่ ส่วนเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส จากร้อยละ 4.31 เป็นร้อยละ 11.91 ซึ่งจะเร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาและสร้างความปลอดภัยอาหารให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ต่อไป 

ส่วนการแจ้งเตือนภัยด้านอาหารปลอดภัยในภาวะฉุกเฉินปีงบประมาณ2559 สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัยได้แจ้งข่าวสารอาหารปลอดภัย 9 เรื่องได้แก่ การจับกุมสถานที่ผลิตน้ำปลาร้าบรรจุขวดที่ จ.กาฬสินธุ์ การเรียกคืนผักสลัดบรรจุถุงของประเทศออสเตรเลีย การพบหมึกบลูริงปนกับปลาหมึกในห้างดัง การปลอมปนตะกั่วในกุ้ง การเรียกคืนช็อกโกแลตที่ผลิตโดยบริษัท Mars การเรียกคืนหอยแมลงภู่ของประเทศออสเตรเลีย การตรวจพบวัตถุกันเสียเกินมาตรฐานในขนมจีน การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำแข็ง และการจับกุมสถานที่ผลิตซอสปรุงรสและซีอิ๊วปลอม

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนบูรณาการการเฝ้าระวังผักและผลไม้สด ทั้งในประเทศและนำเข้า โดยเตรียมเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักและผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลาก คาดว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเดือนกันยายน 2559 นี้  รวมทั้งได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ อบรมและทดสอบความชำนาญระบบการตรวจเฝ้าระวังอาหาร สื่อสารความเสี่ยงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค การเฝ้าระวังสถานการณ์สุขาภิบาลอาหารและน้ำในสถานประกอบการในพื้นที่ทั่วไปและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยสุ่มตรวจร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร เป็นต้น 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 เม.ย. 2559 เวลา : 15:29:32

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:16 pm