วันนี้ (22เม.ย.59) นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีหลักเกณฑ์ในการสร้างและพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนให้เป็น "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ" ใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับ "พออยู่ พอกิน" คือ ครัวเรือนมีการพัฒนาจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำกิน ทำใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีการออม 2.ระดับ "อยู่ดี กินดี" คือ หมู่บ้าน/ชุมชนที่สามารถบริหารจัดการพัฒนาในรูปแบบกลุ่ม และการพัฒนารายได้ด้วยระบบกลุ่ม สามารถเพิ่มรายได้และขยายโอกาสให้คนในชุมชน และ 3.ระดับ "มั่งมี ศรีสุข" คือ หมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีการบริหารพัฒนาด้วยองค์กรเครือข่ายในการยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพและมีสวัสดิการชุมชน
กระทรวงมหาดไทยจึงขอเรียนให้ทราบถึงผลการดำเนินงานและความคืบหน้าด้านการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยได้เข้าไปสร้างและพัฒนาแกนนำหมู่บ้านให้เป็นผู้นำ ในการพัฒนา ฝึกอบรมครอบครัวพัฒนาให้เป็นครัวเรือนต้นแบบในการขยายผลไปสู่ครัวเรือนอื่นๆ มีการจัดเวทีประชาคมและใช้ข้อมูล จปฐ. กชช 2 ค บัญชีครัวเรือน และอื่นๆ มาจัดทำแผนชุมชน และใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้าน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ฝึกอาชีพ จัดทำฐานการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน และส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการชุมชนพึ่งพาตนเอง เน้นการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1.ด้านจิตใจและสังคม เน้นให้หมู่บ้าน/ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ร่วมมือกันในการพัฒนา ปลูกฝังให้ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. ด้านเศรษฐกิจ เน้นการจัดทำบัญชีครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ มีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพและมีการออมหลากหลายรูปแบบหรือมีวิสาหกิจชุมชน 3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้พลังงานทดแทน และ 4. ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามหลักการพึ่งพาตนเอง
ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบไปแล้วจำนวน 7,309 หมู่บ้าน มีผู้นำชุมชนที่เป็นแกนนำในการพัฒนาหมู่บ้าน จำนวน 21,927 คน มีครอบครัวที่เป็นต้นแบบ การพัฒนาวิถีชีวิตแบบพอเพียง จำนวน 219,270ครัวเรือน มีแหล่งเรียนรู้ในหมู่บ้านและมีหมู่บ้านที่เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ตลอดจนเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหมู่บ้าน จำนวน 904 แห่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ภริยานายกรัฐมนตรี คู่สมรสรัฐมนตรี และคณะคู่สมรสทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ได้ไปศึกษาดูงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ที่บ้านหัวอ่าว จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านจนประสบผลสำเร็จ มีฐานเรียนรู้ของชุมชนมากมาย โดยเฉพาะด้านการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปนั้น กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบและสร้างความยั่งยืนให้กับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเดิม โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้ร้อยละ 25 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ การบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2557-2560) ของรัฐบาล
ซึ่งได้มีการรวบรวม ตรวจความถูกต้อง และความซ้ำซ้อนของพื้นที่เป้าหมายที่มีหน่วยงานเข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศจำนวน 23,589 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 1. หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง 2. หมู่บ้านนำร่องของมูลนิธิปิดทองหลังพระ 3. หมู่บ้านโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบ ABCของกระทรวงมหาดไทย 4. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ กรมการพัฒนาชุมชน 5. หมู่บ้านที่ขับเคลื่อนโดยสภาองค์กรชุมชน 6. หมู่บ้านที่รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7. หมู่บ้านต้นแบบของ ธกส. และ 8. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยกรมการปกครอง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เป็นประธานในการมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง NBT เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามเป้าหมายที่กำหนดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำข้อมูลของชุมชนมาวิเคราะห์และปรับแผนชุมชน เน้นหนักในการจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำหลักการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชนให้มีความ “อยู่เย็น เป็นสุข" บนวิถีชีวิตที่พอเพียง มั่นคง และมีภูมิคุ้มกัน.
ข่าวเด่น