ประวัตินายบรรหาร ศิลปอาชา
(ข้อมูลประวัติจากเว็บไซต์สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย)
นายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊
สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา (สมรสกับ เก๋-สุวรรณา ไรวินท์ ทายาทตระกูลไรวินท์ เจ้าของธุรกิจ ซุปไก่ก้อนรีวอง) และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา
นายบรรหารจบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย ต่อมาเมื่อนายบรรหารเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
บรรหารถึงแก่อนิจกรรมในเช้ามืดของวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่โรงพยาบาลศิริราชจากภาวะหอบหืดกำเริบ ศิริอายุ 83 ปี 8 เดือน
ประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์
นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มอบปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่นายบรรหาร ศิลปอาชา อีกด้วย ระหว่างที่นายบรรหารเรียนนิติศาสตร์ที่รามคำแหงอยู่นั้น นายบรรหารเคยเรียนกับนายวิษณุ เครืองามด้วย
การทำงานทางการเมือง
นายบรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[4] และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ต่อมานายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2523 และในปีเดียวกันนั้น เขาถูกนายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และคณะรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าเขาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยกคำร้องดังกล่าว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายบรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ในปี พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชจนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเดิมอีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531 - 9 มกราคม 2533)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (มกราคม 2533 - ธันวาคม 2533)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม 2533 - 23 กุมภาพันธ์ 2534)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร (7 เมษายน 2535 - 9 มิถุนายน 2535)
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
ข่าวเด่น