กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับมูลนิธิธัญญรักษ์ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หมอบาทเดียว ตรวจรักษาชาวไทยภูเขาที่ประสบภัยหมอกควันไฟป่า ที่ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบส่วนใหญ่ผื่นคัน ไอเจ็บคอ พร้อมมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 70,000 ชิ้น ให้อสม.ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแจกชาวบ้านใช้ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสำคัญอาทิ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หมอบาทเดียว บริการประชาชนที่หมู่บ้านลูกูดู หมู่ 9 ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่ากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลอมก๋อย สถาบันธัญรักษ์ มูลนิธิธัญรักษ์ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หมอบาทเดียว ซึ่งเป็นทีมเจ้าหน้าที่จิตอาสาจากส่วนกลาง ภูมิภาค สมทบกับทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านซิแบร ต.แม่ตื่น และอสม.ประจำหมู่บ้านลูกูดู ประมาณ 40 คน บริการตรวจรักษาประชาชนที่ประสบภัยปัญหาหมอกควันไฟป่า ปกคลุมพื้นที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป บริการทำฟัน ตรวจสุขภาพช่องปาก ให้บริการปรึกษาการเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า
รวมทั้งยาเสพติดอื่นๆ วันนี้มีผู้รับบริการ 150 คน ทั้งหมดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ร้อยละ 60 เป็นโรคผิวหนัง ผื่นคัน ไอ เจ็บคอ ร้อยละ 30 ที่เหลือปวดเมื่อยทั่วไปทำฟัน14 คน ทั้งนี้ในช่วงที่หมอกควันปกคลุม ประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการที่ รพ.สต.บ้านซิแบร เพิ่มขึ้นจากปกติ 2 เท่าตัว มากที่สุดคือโรคทางเดินหายใจ รับบริการวันละ 40 คน มีผู้ป่วยโรคหอบหืด วันละ 1-2 คน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการตรวจคุณภาพอากาศในภาคเหนือตอนบน ล่าสุดในวันที่ 23 เมษายน 2559 พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ทุกจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินค่ามาตรฐานคือ120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ลดจากวานนี้ 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (23เม.ย.)ส่วนที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย วัดได้ 114 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยกรมสบส.ได้ส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 70,000 ชิ้น ให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต1 จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้อสม.ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีประมาณ 30,000 คน และจังหวัดอื่นๆ นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในภาวะฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองควันไฟให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบได้ง่ายกว่าประชาชนทั่วไปได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้องรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โดยได้ให้อสม.ให้ความรู้ชาวบ้านให้งดการเผาทุกชนิด และให้ออกเยี่ยมกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในชุมชน เพื่อดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
สำหรับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หมอบาทเดียวนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณราชการแล้ว และมีจิตอาสา เสียสละ ใช้เวลาในวันหยุดราชการ ร่วมกันออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลเดือนละ 1 ครั้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและอสม.ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสาธารณสุขในชุมชนหรือที่เรียกว่าบริการระดับปฐมภูมิ และคัดกรองส่งต่อผู้ป่วยรายที่จำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ให้ได้รับการดูแลรักษาจนหายขาด ช่วยลดภาระประชาชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น โดยจัดหาเครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรคทุกระบบ กว่า 50 รายการ และเวชภัณฑ์อื่นๆ ไม่พึ่งงบประมาณจากภาครัฐใดๆทั้งสิ้น เก็บค่าบริการคนละ1 บาท เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าเงิน และสุขภาพ การเจ็บป่วยไม่ใช่ของฟรี และมอบเงินค่าบริการทั้งหมดแต่ละครั้ง ให้แก่โรงเรียนในชุมชน เป็นทุนอาหารกลางวันแก่นักเรียน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชุมชนนั้นๆ ต่อไป ผลการดำเนินการ 23 ปี ให้บริการแล้ว 380 ครั้ง ผู้รับบริการ กว่า 130,000 คน
ข่าวเด่น