ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แกนนำชุมชนให้คะแนนผลงานรัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น 8.31จาก10คะแนน


 


รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ประสบการณ์ของแกนนำชุมชนต่อปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เปรียบเทียบในห้วงเวลารัฐบาลต่อรัฐบาล  :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,076 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นคำถามกับตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ศึกษา โดยการสอบถามถึงพฤติกรรมการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ  53.7 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกวัน/เกือบทุกวัน  ในขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุติดตาม 3-4 วัน ร้อยละ 5.5 ระบุติดตาม 1-2 วัน ร้อยละ 9.2 ระบุติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.7 ระบุไม่ได้ติดตาม
 
หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวอย่างแกนนำชุมชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย โดยเปรียบเทียบความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างรัฐบาลที่ผ่านมากับรัฐบาลชุดปัจจุบันในประเด็นสำคัญที่น่าสนใจดังกล่าว  ซึ่งผลการสำรวจพบว่าในกรณี “เจ้าหน้าที่รัฐมักจะยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ตำแหน่ง ได้ประโยชน์” นั้นตัวอย่างส่วนใหญ่คือ  ร้อยละ 82.5 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในขณะที่ร้อยละ 61.2 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยเช่นกัน 
 
 
 
 
สำหรับประเด็น “การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีความน่าสงสัย” นั้นพบว่าตัวอย่างร้อยละ 79.1 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลชุดปัจจุบัน  

นอกจากนี้ในประเด็นที่ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริต มักจะถูกโยกย้ายให้พ้นจากหน้าที่ไป” นั้นพบว่าตัวอย่างร้อยละ 76.7 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ และพบว่าร้อยละ 62.7 ระบุเห็นว่ากรณีนี้เป็นจริงในรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงกรณี “เคยพบข่าวว่าชาวบ้านที่ออกมาเปิดโปงหรือต่อต้านขบวนการทุจริตคอรัปชั่นมักจะเดือดร้อน” นั้นตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 76.1 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 55.7 เห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกรณี “นักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นแล้วถูกลงโทษ/ดำเนินคดี” พบว่า ตัวอย่างร้อยละ  57.6 ระบุเห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.7 ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน  
เช่นเดียวกับเมื่อสอบถามต่อไปถึงกรณี “รัฐบาลมีการแจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณให้ประชาชนรับทราบ” นั้นพบว่าร้อยละ 49.9  ระบุเห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงความจริงในรัฐบาลชุดปัจจุบันพบว่าสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 86.6 
 

กรณี “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาล” นั้น พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.8 ระบุเห็นว่าเป็นจริงในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้  ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85.3 ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน  
 
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามถึง “ความรู้สึกปลอดภัย ถ้าจะออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริต” นั้นพบว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ตัวอย่างไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 41.7  ระบุรู้สึกปลอดภัย แต่กลับพบว่ามากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 73.6 รู้สึกปลอดภัยถ้าจะออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และยังพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 64.7 เคยมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 

ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเมื่อคณะผู้วิจัยได้ให้ตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษา “ให้คะแนนต่อผลการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นั้นพบว่าเมื่อมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาล ได้คะแนนเฉลี่ยต่อผลงานในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเท่ากับ 8.31 คะแนน ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “ป.ป.ช.” ได้ 8.12 คะแนน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้คะแนนเฉลี่ย 7.99 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ โดยเมื่อเปรียบเทียบตามรายภูมิภาคพบว่า ทุกภูมิภาคให้คะแนนเฉลี่ยต่อผลงานในเรื่องนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก
 
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 24 เม.ย. 2559 เวลา : 11:17:13

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:45 am