รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนบริเวณเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเพื่อรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทดังกล่าวในขั้นตอนต่อไป
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความกังวลและห่วงใยประชาชน จึงสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“นโยบายการกำกับดูแลเหมืองแร่ของกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มุ่งมั่นให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่สามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมได้ โดยการทำเหมืองแร่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายแร่และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ซึ่งทางภาครัฐจะมีบทบาทในการกำกับดูแลการประกอบการอย่างเข้มงวดทั้งด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย ด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย และด้านสิ่งแวดล้อม” นางอรรชกา กล่าว
สำหรับการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนและน้ำอุปโภคบริโภค นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้มีการตรวจสอบพบระบบประปาในพื้นที่มีค่าแมงกานีสและเหล็กเกินมาตรฐาน 10 จุด จาก 49 จุด โดยปัญหาที่พบ ได้แก่ ฐานบ่อบาดาลสกปรก มีสนิมเหล็กในบ่อกรองทราย ไม่มีการระบายตะกอนจากหอถังสูง บางระบบไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำสูบจ่ายตรง จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการแก้ไขระบบประปาที่มีค่าแมงกานีสและเหล็กเกินมาตรฐาน จำนวน 10 จุด และมีระบบประปาที่ประชาชนเสนอเพิ่มเติมอีก 6 จุด รวมเป็นจำนวน 16 จุด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วทุกแห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท อัคราฯ สำหรับระบบประปาที่ประชาชนมีความกังวล แม้จะเป็นจุดที่กรมอนามัยไม่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปตรวจสอบและดูแลให้เกิดความปลอดภัย
“กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่รอบเหมืองแร่ โดยตั้งอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ในส่วนของการดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ มีการดำเนินการอย่างครอบคลุมทั้งผู้ที่มีและไม่มีค่าโลหะหนักในร่างกายผิดปกติ รวมทั้งได้จัดตั้งคลินิกอาชีวะอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลพิจิตร เพื่อให้บริการเชิงรุก ตลอดจนจัดส่งทีมหมอครอบครัวตรวจเยี่ยมติดตามผู้ที่เคยถูกวินิจฉัยว่าป่วยถึงบ้านทุกสัปดาห์” นายแพทย์ปิยะสกล กล่าว
นอกจากนี้ จากการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมก่อนการประกอบการเหมืองแร่ทองคำในด้านข้อมูลธรณีวิทยา ดิน น้ำ และพืชผักในพื้นที่รอบเหมือง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่มาจากหลายส่วนราชการ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลจากคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งผลการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งข้อเท็จจริงที่สรุปได้ในเบื้องต้น พบว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาการเกิดแหล่งแร่ทองคำโดยทั่วไปมักเกิดร่วมกับแร่หรือโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น เหล็ก แมงกานีส สารหนู เป็นต้น
ดังนั้นแหล่งน้ำบาดาลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีโอกาสที่จะพบธาตุหรือโลหะเหล่านั้นละลายอยู่ โดยจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลพบเหล็กและแมงกานีสสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานกระจายอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ แต่ไม่สามารถบ่งชี้หรือสรุปได้แน่นอนว่ามาจากกิจกรรมของเหมืองหรือไม่ ส่วนสารหนูและไซยาไนด์พบมีปริมาณน้อยและไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับการตรวจติดตามคุณภาพน้ำต่าง ๆ จากบ่อสังเกตการณ์ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ออกนอกพื้นที่เหมืองแร่ แต่ยังมีข้อสงสัยในบางจุดซึ่งจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อสรุปต่อไป สำหรับผลการตรวจสอบพืชผักพบว่า มีโลหะหนักในพืชผักบางชนิดแต่ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และพบไซยาไนด์ในพืชผักบางชนิด ทั้งพืชผักที่มีไซยาไนด์สูงตามธรรมชาติ เช่น มันสำปะหลัง และพืชผักที่ไม่น่าจะมีไซยาไนด์สูง เช่น บอน ต้นข้าว นอกจากนี้ มีการตรวจพบว่าส่วนใหญ่มีค่าโลหะหนักของผักและผลไม้ในพื้นที่อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากผักและผลไม้ในพื้นที่อื่น
กรณีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมนั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคณะกรรมการประมวลผลข้อเท็จจริงและผลการตรวจสอบประกอบการพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทฯ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
รวมทั้งจะได้มีการนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มาประกอบการพิจารณาด้วย ขณะนี้จึงยังไม่มีการตัดสินใจต่ออายุหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 กำหนดให้บริษัทฯ ต้องนำเงินเข้ากองทุนพัฒนาท้องถิ่นตามสัดส่วนปริมาณโลหะทองคำที่ผลิตได้ในอัตรา 3 บาทต่อกรัม หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบโลหกรรม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินเข้ากองทุนมียอดเงินสะสมรวม 45 ล้านบาท โดยกองทุนจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 29 หมู่บ้านบริเวณโดยรอบเขตเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ได้แก่ ตำบลเขาเจ็ดลูก และตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อจังหวัดพิจิตร ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลวังโพรง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
สำหรับการบริหารกองทุนจะเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยให้จังหวัดพิจิตรแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน มีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นประธานกองทุน มีผู้แทนจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมาะสมร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะช่วยกันบริหารกองทุนให้เกิดประโยชน์ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งมอบเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่นของบริษัทฯ ดังกล่าว ให้กับจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกด้วยแล้วในวันนี้
ข่าวเด่น