มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และทองคำ ในขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.4 (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 43.8 (YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวของการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 262.5 (YoY) จากปัจจัยด้านราคาทองคำที่สูงขึ้น และมีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร เช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 80.8 (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง
ในขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 7.6 ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ -22.7 จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว
โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนมีนาคม 2559 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 35.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ ก็หดตัวสูง (-28.4) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-6.2) ที่หดตัวลงเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า
ตลาดส่งออกสำคัญอย่างอาเซียน และทวีปออสเตรเลียขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดส่งออกหลักอย่างตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กลับมาหดตัว เช่นเดียวกับจีนที่ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เดือนมีนาคม 2559 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อาเซียน และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (YoY) และร้อยละ 3.5 (YoY) ตามลำดับ จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีในทั้งสองภูมิภาค
อย่างไรก็ดีพบว่ากลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ -6.9 (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่หดตัวจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสำคัญ นอกจากนี้ตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -6.1 (YoY) สหภาพยุโรป หดตัวร้อยละ -2.9 (YoY) และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.4 (YoY) เช่นเดียวกับ การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีน หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.4 (YoY) จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมถึงการหดตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการใช้นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์มูลค่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย
การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 85,360 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.80 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 254,173 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.95 (YoY)
ทำให้ภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 ไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 22,919 ล้านบาท และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) ได้ดุลการค้า 47,884 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่า 12,550 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.31 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่า 36,652 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.51 (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนมีนาคม 2559 ไทยขาดดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 2,500 ล้านบาท และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) ขาดดุลการค้า 4,356 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนมีนาคม 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 97,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 (YoY) และระยะ 3 เดือน (ม.ค. – มี.ค. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 290,825 ล้านบาท ขยายตัว 2.38 (YoY)
ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 โดยยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
1. ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์
จะใช้โอกาสทางการค้า และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
2. เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven) หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกในระดับเมือง (City focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ
3. ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business)
4. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
5. ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ
ข่าวเด่น