ก.เกษตรฯ ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวทั้งประเทศ 62.12 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาปี 57.41 ล้านไร่ และนาปรัง 4.71 ล้านไร่ ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร คาดได้ผลผลิตนาปี 24.01 ล้านตันข้าวเปลือก เตรียมส่งมอบจังหวัดเดินแผนโดยใช้ Agri-Map เคาะพื้นที่เหมาะสม
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ GISTDA และกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2559/60 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเกินความต้องการของตลาด อีกทั้งชนิดข้าวที่ปลูกไม่สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งเรื่องของความไม่เป็นธรรมชาวนามักถูกเอารัดเอาเปรียบ ขาดการกำหนดมาตรฐานข้าว ขาดการเชื่อมโยงข่าวสารอย่างเป็นระบบ ขาดการจัดการที่ดีทั้งในด้านเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอและการบริหารจัดการในช่วงการผลิตข้าว และขาดการผลิตสินค้าข้าวนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง
สำหรับแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2559/60 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดอุปสงค์ข้าวไว้ปริมาณ 25.01 ล้านตันข้าวเปลือก กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดอุปทาน 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งมากกว่าอุปสงค์เล็กน้อย เพื่อเป็นการเผื่อไว้กรณีแปลงนาประสบภัยธรรมชาติ การระบาดทำลายของศัตรูข้าว และเผื่อเหลือเผื่อขาด แบ่งเป็นฤดูนาปี ปริมาณ 23.29 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นพื้นที่ 55.81 ล้านไร่ และฤดูนาปรัง ปริมาณ 3.88 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นพื้นที่ 5.79 ล้านไร่
ทั้งนี้ ในฤดูนาปี ปี 2559/60 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปี รวมทั้งประเทศ 57.41 ล้านไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิต 24.01 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งแบ่งพื้นที่ปลูกตามกลุ่มสินค้าข้าว 5 ชนิด ดังนี้ 1. ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ปลูก 26.57 ล้านไร่ ผลผลิต 9.38 ล้านตันข้าวเปลือก 2. ข้าวหอมปทุมธานี พื้นที่ปลูก 1.23 ล้านไร่ ผลผลิต 0.85 ล้านตันข้าวเปลือก 3. ข้าวเจ้า พื้นที่ปลูก 14.32 ล้านไร่ ผลผลิต 8.01 ล้านตันข้าวเปลือก 4. ข้าวเหนียว พื้นที่ปลูก 15.07 ล้านไร่ ผลผลิต 5.69 ล้านตันข้าวเปลือก 5. ข้าวอื่นๆ (ข้าวสี และข้าวอินทรีย์) พื้นที่ปลูก 0.22 ล้านไร่ ผลผลิต 0.08 ล้านตันข้าวเปลือก
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้กำหนดแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย 1) การกำหนดอุปสงค์และอุปทาน 2) ช่วงการผลิต โดยการประกาศพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวนาปี พิจารณาร่วมกับแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) หากพื้นที่จังหวัดใดมีการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น หรือทำกิจกรรมอื่นที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการปลูกข้าว โดยให้มีการรวมกลุ่มชาวนา เพื่อจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำเครื่องจักรกลการเกษตร การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาชาวนา และมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 3) ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว โดยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและมาตรฐานโรงสี การพัฒนาส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพ Q ครบวงจร และการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร 4) การตลาดในประเทศ โดยให้มีการทบทวนมาตรฐานข้าวหอมมะลิการส่งเสริมการบริโภคข้าว มาตรการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกลตลาด การพัฒนาตลาดสินค้าข้าวทีมีศักยภาพในการสร้างมูลค่า (ข้าวสี ข้าวGI ข้าวอินทรีย์ )และจัดทำมาตรฐาน Fair Trade เพื่อการแข่งขันในตลาดโลก 5) การตลาดต่างประเทศ โดยเปิดการเจรจาตลาดต่างประเทศรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ ขยายตลาดข้าวคุณลักษณะเฉพาะให้มากขึ้น เสริมสร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดการปัจจัยการผลิตในช่วงฤดูนาปี ซึ่งมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวปริมาณ 826,732 ตัน กรมการข้าวสามารถผลิตได้ 56,970 ตัน สหกรณ์การเกษตร จำนวน 31,190 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 49,448 ตัน และผู้ประกอบการ จำนวน 105,768 ตัน ส่วนที่เหลืออีก จำนวน 583,356 ตัน กรมการข้าวได้ส่งเสริมให้ชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง พร้อมกันนี้ได้มีการประกาศลดราคาปุ๋ยเคมีสำหรับนาข้าวลงกระสอบละ 10 – 30 บาท และให้มีการจัดสรรน้ำเสริมจากปริมาณน้ำฝนหรือน้ำท่าในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอต่อการปลูกข้าว ในพื้นที่ชลประทาน จำนวน 23 ล้านไร่ ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวมีความสมดุลกับความต้องการของตลาด ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ข่าวเด่น