ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสิกรไทยตั้ง KBTG พัฒนาเทคโนโลยีตั้งงบไอที 5พันล้านบาท


 


กสิกรไทย ตั้ง KASIKORN Business - Technology Group (KBTG) มุ่งคิดค้นนวัตกรรม ร่วมพันธมิตรทางเทคโนโลยี และจับมือ FinTech และ Tech Startup สร้างนวัตกรรมทางการเงินรองรับดิจิทัล แบงกิ้งที่โตก้าวกระโดด เพิ่มความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงินในตลาดโลก  พร้อมตั้งงบปีละ 5,000 ล้าน พัฒนาไอทีใหม่ หวังลูกค้าจะได้รับบริการทางการเงินในโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุด คาดใน 5 ปี จำนวนรายการผ่านดิจิทัล แบงกิ้ง เพิ่มเป็น 7,900 ล้านรายการต่อปี คิดเป็นมูลค่าธุรกรรม 30 ล้านล้านบาทต่อปี   
 

นายบัณฑูร  ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟนทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้สะดวกรวดเร็วขึ้น จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยพบว่า รายการที่ทำผ่านช่องทางดิจิทัล แบงกิ้ง (โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต) ของธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 168 ล้านรายการในปี 2554 เป็น 1,135 ล้านรายการในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,900  ล้านรายการใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563) ส่วนการใช้บริการผ่านช่องทางสาขาจะเพิ่มจาก 166 ล้านรายการในปี 2554 เป็น 188 ล้านรายการในปี 2558 แต่คาดว่าจะลดเหลือประมาณ 153 ล้านรายการในปี 2563 ในขณะที่มูลค่าธุรกรรมที่ผ่านดิจิทัล แบงกิ้งก็เพิ่มจาก 9 แสนล้านบาทในปี 2554 เป็น 4 ล้านล้านบาทในปี 2558 และคาดจะเติบโตประมาณ 10 เท่าตัวเป็น 30 ล้านล้านบาท ในปีพ.ศ.2563 หรือ 5 ปีข้างหน้า
 
 
 
 
 
 

การเพิ่มขึ้นของธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology-FinTech) ที่ให้บริการที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างกว้างขวางทั้งจากสถาบันการเงินและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อตอบสนองสังคมในยุคดิจิทัล ดังนั้นจากโจทย์ทางธุรกิจในด้านเทคโนโลยีการเงินที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงกระแสธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี (Tech Startup) ที่ได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการทางการเงินมาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในโลกการเงิน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความคาดหวังต่อบริการทางการเงินที่สูงขึ้นในโลกดิจิทัล ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวม                                                                        
 
              

 ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้นำดิจิทัล แบงกิ้ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 38% พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตด้วยการตั้งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานและบริการด้านไอที และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงินในตลาดโลก และเพื่อครองความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละปีธนาคารตั้งงบประมาณด้านไอทีไว้ประมาณ 10% ของกำไรสุทธิ หรือประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท และเป็นงบเพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่อีก 1-2% ของกำไรสุทธิ หรือ 1,000 ล้านบาท

 
 
ทั้งนี้ นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารกสิกรไทย จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป อีกตำแหน่งหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงการทำงานเข้ากับคณะกรรมการธนาคารและดูแลการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในธนาคารและพันธมิตรทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพอย่างไร้รอยต่อ และแต่งตั้งนายสมคิด จิรานันตรัตน์ เป็น รองประธาน กลุ่มบริษัท KBTG ประกอบด้วย 5 บริษัท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ถือหุ้น 100% ทั้งหมด ได้แก่

 
 
บริษัท กสิกร เทคโนโลยี กรุ๊ป เซเครเทเรียต จำกัด ดูแลด้านวางแผน ติดตาม และให้การสนับสนุนการจัดการด้านการเงินและด้านบุคลากรของ KBTG รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง KBTG และธนาคารกสิกรไทย บริษัท กสิกร แล็บส์ จำกัด ค้นคว้าเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบดิจิทัล แบงกิ้ง และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งทำหน้าที่สร้างและทดลองระบบต้นแบบก่อนประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ของธนาคารกสิกรไทย

บริษัท กสิกร ซอฟต์ จำกัด ออกแบบและสร้างระบบไอทีเพื่อรองรับความต้องการทางธุรกิจและรองรับการนำนวัตกรรมมาใช้ในธนาคารให้มีความรวดเร็วและคุณภาพสูงสุด บริษัท กสิกร โปร จำกัด ดูแลการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบไอทีของธนาคารให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และ บริษัท กสิกร เซิร์ฟ จำกัด ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของกลุ่มบริษัท ทั้งทางด้านการพัฒนา การทดสอบ และการปฏิบัติการระบบไอที

สำหรับทิศทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ของ KBTG มุ่งไปที่การใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธนาคาร รวมทั้งการพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า อาทิ การพัฒนาบริการผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และหลากหลายช่องทางธุรกิจ (Omni Channel) และ การใช้งานเทคโนโลยีเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการให้บริการผ่านเครือข่ายที่ครบวงจร (End-to-end Service) เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังในอุตสาหกรรมการเงิน นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในบริการทางการเงินเพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากบริการทางการเงิน เช่น การตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล อีกทั้งยังมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินและบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup อีกด้วย

  

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ KBTG มุ่งเน้นใน 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. Internet of Things (IoT) คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต   2. World Class Design คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการในโลกยุคใหม่ที่คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก (User Experience Design-UXD) 3. Application Programming Interface (API) คือ โปรแกรมหรือชุดคำสั่งหรือช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างซอฟต์แวร์หนึ่งไปยังอีกซอฟต์แวร์หนึ่ง รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างแอพพลิเคชั่นไปยังเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น กับระบบปฏิบัติการด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อการเข้าถึงข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแอพพลิเคชั่น
 
 

4. Advanced Mobile Programming คือ แนวโน้มของเทคโนโลยีในอนาคตที่จะสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานมากที่สุด 5. Blockchain  คือ เทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจการเงิน เพราะนอกจาก Blockchain จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายแล้ว หลายบริษัททั้งในและนอกธุรกิจทางการเงินยังเชื่อว่า Blockchain ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น เช่น การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระเงินข้ามแดน ให้มีความรวดเร็วและตรวจสอบได้  และเทคโนโลยีที่ 6. Machine Learning หมายถึงการที่กำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น โดยเรียนรู้จากการกระทำ หรือสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านั้นโดยใช้หลักการของปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรืออาจเป็นการเรียนรู้จากการถูกสั่งให้ทำ จากตัวอย่าง (example) หรือจากการเปรียบเทียบ (analogy) ก็ได้
 
 

KBTG ยังจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในห้องแลปร่วมกับ Tech Giant ซึ่งเป็นบริษัทไอทีขนาดใหญ่ นอกจากนี้จะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองธุรกิจ FinTech และ Tech Startup ที่มีไอเดีย และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยีในโลกอนาคต พร้อมใช้จุดแข็งทางด้านนวัตกรรมของบริษัทเหล่านี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น การสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีโอกาสเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้น อาทิ ฐานลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคลของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารยังมีปัจจัยสนับสนุนการทำธุรกิจของ Tech Startup ที่สำคัญ นั่นคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) ที่แข็งแกร่งและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงจะช่วยให้ Tech Startup มีศักยภาพมากขึ้นในการพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมอย่างรวดเร็วในอนาคต
 
 

นายบัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจธนาคารและธุรกิจไอทีมีรูปแบบการบริหารจัดการและลักษณะบุคลากรที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจัดตั้ง KASIKORN Business - Technology Group จึงมีโครงสร้างบริษัทแยกออกจากธุรกิจของธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและสามารถสร้างสภาพแวดล้อมรวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรแบบเฉพาะตัวที่จะดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้าน ไอทีเข้ามาร่วมงานกับ KBTG ได้ตามเป้าหมาย โดยบุคลากรของ KBTG จะปฏิบัติงานที่อาคารกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี  กรุ๊ป ซึ่งเป็นอาคารแห่งใหม่ของธนาคาร สูง 11 ชั้น ภายในอาคารมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับการทำงานที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และงานนวัตกรรมอีกด้วย
 
 
 


 KBTG จะร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็นดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ  รวมถึงความพร้อมในการทำงานร่วมกับ Tech Startup กล่าวคือ สามารถเป็นได้ทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ผู้ร่วมลงทุน (Investor) หรือแม้แต่เป็นลูกค้า (Customer) แล้วแต่รูปแบบของนวัตกรรมเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่และส่งเสริมให้ธุรกิจรูปแบบใหม่เหล่านี้เติบโตและประสบความสำเร็จในระยะยาว นอกจากนี้ KBTG ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่อง e-Payment Master Plan
 
 
 
โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประยุกต์ในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนจะได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนจากการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าบริการที่ถูกกว่าแทน ในส่วนของ ร้านค้าก็สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค รวมไปถึงการพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะทำให้โครงสร้างต้นทุนการให้บริการทางการเงินในอนาคตลดต่ำลงอย่างมากในขณะที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้มากกว่าเดิมเพื่อเสริมให้ชีวิตในโลกดิจิทัลสมบูรณ์แบบ
 
 

LastUpdate 25/04/2559 16:03:55 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:07 am