นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม นบข. ครั้งที่ 2/59 เห็นชอบทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปรับกำหนดระยะเวลายุทธศาสตร์ข้าวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และยุทธศาสตร์ 20 ปี ปลัด พณ. เผยเตรียมประกาศทยอยเปิดประมูลข้าวในสต็อก 11.4 ล้านตันตั้งแต่สัปดาห์หน้า ย้ำการระบายข้าวของรัฐบาล จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ รอบคอบและรัดกุม
วันนี้ (25 เม.ย.59) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 2/2559 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบให้ทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558-2562 โดยมอบหมายให้คณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร ที่มีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมชาวนาที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวไทยทั้งด้านการผลิตและการตลาด ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปภาคการเกษตรระยะยาวและกรอบยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี พร้อมกับเห็นชอบปรับกำหนดระยะเวลายุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558-2562 เป็นยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2560-2564 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยแบ่งเป็นช่วง ๆ ระยะเวลาช่วงละ 5 ปี
พร้อมกับ เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพราะเห็นความจำเป็นที่จะต้องทบทวนหาแนวทางทำให้ข้าวที่ผลิตออกมา ได้ใช้ความรู้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการผลิตข้าวเป็นสินค้าแปรรูปในเชิงพาณิชย์ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว จะต้องศึกษาทั้งรูปแบบ องค์ประกอบ แนวทางการดำเนินงานของสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในสถาบันอื่น ๆ จะต้องเน้นทำเรื่องข้าวโดยเฉพาะ โดยวางกรอบไว้ว่าจะดำเนินการให้ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่ง นบข. ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานแล้วนำผลการศึกษามาเสนอ นบข. โดยเร็ว
นอกจากนี้ นบข. พิจารณาวิธีการระบายข้าว ตามที่รัฐบาลได้ระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่ออกไป โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ นบข. เห็นชอบและดำเนินการเป็นขั้นตอน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการระบายข้าวไปแล้วหลายครั้งด้วยวิธีการประมูลข้าวในคลังกลางจากที่มีอยู่จำนวน 18 ล้านตันกว่า ขณะนี้มีข้าวเหลืออยู่ 11.4 ล้านตัน โดย นบข. ได้ทบทวนวิธีการระบายข้าวเพื่อทำให้ข้าวที่เหลืออยู่ 11.4 ล้านตัน ได้ระบายออกไปเร็วขึ้นในสถานการณ์ที่เอื้อในขณะนี้ เนื่องจากในปีนี้ประสบภาวะภัยแล้ง ชาวนาไม่มีข้าวอยู่ในมือ กว่าจะปลูกข้าวได้ก็ต้องใช้เวลาให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล ดังนั้น จึงมีเวลาที่จะระบายข้าวได้อีก ซึ่ง นบข. ได้เห็นชอบวิธีการระบายข้าวตามประเภทของข้าว ตามที่คณะอนุกรรมการระบายข้าวนำเสนอ โดยแยกข้าวเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ข้าวดีที่ผ่านมาตรฐาน มีจำนวน 1 แสนกว่าตัน ที่จะใช้วิธีการประมูลข้าวแบบที่ผ่านมา กลุ่มที่ 2 ข้าวในคลังที่เป็นข้าวดีและคลังมีความเสียหาย หรือเรียกว่าข้าวกลุ่มซีที่ผิดไปจากมาตรฐานแต่ไม่ใช่ข้าวเสีย โดยข้าวกลุ่มนี้จะต้องเร่งระบายออกไปก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งแบ่งเป็นสองประเภท คือกลุ่มที่มีข้าวเสื่อมหรือข้าวเสียปนไม่เกิน 20% มีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านตัน จะใช้วิธีการประมูลปกติ และกลุ่มที่มีข้าวเสื่อมหรือข้าวเสียเกิน 20% มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านตัน โดยจะใช้วิธีการประมูลทั่วไปแบบยกคลัง ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) เข้าไปกำกับดูแลการขนย้ายข้าวกลุ่มซี และเมื่อขนย้ายแล้วจะต้องเข้าไปสุ่มตรวจ โดยความถี่ในการตรวจขึ้นกับปริมาณข้าวซีที่ปนอยู่มากน้อยเท่าไรในโกดัง
รวมทั้งให้ผู้ที่ซื้อข้าวกลุ่มนี้ไปต้องทำรายงานให้ตรวจว่านำข้าวไปไว้ที่ไหน ไปใช้ในอุตสาหกรรมใดไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์หรืออุตสาหกรรมแป้ง ซึ่ง อคส.กับ อตก. จะเข้าไปสุ่มตรวจ และกลุ่มที่ 3 ที่จะมีทั้งข้าวซี ข้าวที่ผิดไปจากมาตรฐาน ที่เรียกว่าข้าวเสื่อม ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด มีจำนวนรวม 2.4 ล้านตัน โดยจะใช้วิธีการประมูลเป็นการทั่วไปเหมือนเดิม แต่จะต้องมีการควบคุมไม่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริโภคของคน โดยจะต้องมีมาตรฐานการควบคุมเข้มใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มที่ 2 ทั้งนี้ การระบายข้าวตามวิธีดังกล่าว เพื่อลดภาระการนำเจ้าหน้าที่ลงไปทำงาน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และให้ผู้ที่ซื้อไปได้มีส่วนร่วมทำรายงาน เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการผ่อนปรนวิธีการที่ทำไปในปีที่ผ่านมา และที่ประชุมเน้นว่า ในการดำเนินการระบายข้าวของรัฐบาล จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำอย่างรอบคอบและรัดกุม
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศเพื่อเปิดให้มีการประมูลข้าวได้ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากมีมติของ นบข. แล้ว โดยจะทยอยนำมาประมูลภายใน 2 เดือน ครั้งละประมาณ 1 ล้านกว่าตัน เนื่องจากอยู่ในระยะปลอดภัยเพราะเป็นช่วงภัยแล้งที่ชาวนาไม่มีข้าวอยู่ในมือ ซึ่งคาดว่าจะประมูลได้ราคาไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท และไม่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก
ข่าวเด่น