ก.แรงงาน ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย นัดแรก เน้นมาตรการ 5Pขับเคลื่อนนโยบาย ดำเนินคดี คุ้มครองช่วยเหลือ ป้องกัน และร่วมมือทุกภาคส่วน พร้อมทบทวนผลการปฏิบัติ เร่งเดินตามโรดแมป ขับเคลื่อนให้เห็นผล พร้อมสร้างการรับรู้เสริมความร่วมมือ
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ครั้งที่ 1/2559 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน สำหรับการประชุมดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ซึ่งได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงแรงงานจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมนัดแรกเพื่อสรุปประเด็นเกี่ยวกับการทำงาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าครอบคลุมการดำเนินงานหรือไม่ ตรวจสอบด้านคดีที่เข้าสู่ศาลซึ่งมีตัวเลขอันเป็นนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด บทลงโทษของผู้กระทำความผิดมีความรุนแรงเพียงพอหรือไม่ การพิจารณาว่าการปฏิบัติที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเข้มงวดจริงจังต่อเนื่องหรือไม่
สำหรับผลการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย พบว่า ใน ปี 2558 - 2559 มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จำนวน 29 คดี เป็นคดีภาคการประมง 26 คดี และภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 3 คดี ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำโดยชุดตรวจเฉพาะกิจ ศปมผ. ระหว่าง ม.ค. – พ.ค. 59 จำนวน 4 แห่ง พบการกระทำความผิด 1 แห่ง ตรวจเรือประมงในน่านน้ำไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.58 – 16 มี.ค. 59 ก่อนบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พบการกระทำความผิด 113 คดี และหลังบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พบการกระทำความผิด 102 คดี และตรวจเรือประมงทะเลนอกน่านน้ำ (6 ม.ค.59 – ปัจจุบัน) จำนวน 14 ลำ พบการกระทำความผิด 10 ลำ ตลอดจนเน้นมาตรการในการคุ้มครองเหยื่อและพยาน มาตรการตรวจป้องกัน รวมทั้งมีการปรับปรุงกฎหมายและเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด อาทิ การออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล กฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ/กิจการแปรรูปสัตว์น้ำ จัดทำคำนิยาม แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และคู่มือตรวจแรงงาน ปรับปรุงแนวทางการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนในอัตราค่าปรับสูงสุด แก้ไขระเบียบให้ดำเนินคดีอาญาทันทีโดยไม่ต้องออกคำสั่งให้ปฏิบัติ ปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว โดยให้เปรียบเทียบปรับ ในอัตราโทษสูงสุด 100,000 บาท/คน อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวในเรือประมงทะเลและแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเปลี่ยนนายจ้างได้ภายในกลุ่มกิจการประเภทเดียวกัน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง เป็นต้น
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไปนั้น กระทรวงแรงงานจะดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรเอกชนอย่างใกล้ชิด การดำเนินงานตาม Roadmap ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตรวจสอบข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการด้านการดำเนินคดี ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือเหยื่อและพยาน การป้องกัน การปรับปรุงกฎหมาย และการตรวจป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อสรุปรายงานผลการปฏิบัติให้ชัดเจนครบถ้วน รวมทั้งข้อห่วงใยและการประเมินผลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันหากการปฏิบัติตามแนวทางใดยังไม่เป็นผล จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งการชี้แจงประชาสัมพันธ์ข้อมูลการปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป
ข่าวเด่น