ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อันตราย!โรคในช่องปาก ไม่รักษาเสี่ยงกระทบอวัยวะภายใน ปอด - หลอดลม


 


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย โรคในช่องปากนำไปสู่อาการอักเสบและติดเชื้อในอวัยวะอื่น เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ แนะป้องกันด้วยหลัก 3อ. 2ส. 1ฟ.
 
 
ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าโรคในช่องปากเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป 
 

นอกจากนี้ การติดเชื้อในช่องปากจะนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญของร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเชื้อจะเดินทางผ่านกระแสเลือด ท่อน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ เมื่อแพร่กระจายไปสู่ลำคอ หลอดลม และปอด อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ เมื่อเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อ Helicobacter Pylori ถูกกลืนเข้าสู่ทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทั้งนี้ เชื้อโรคจากช่องปากยังสามารถแพร่กระจายไปสู่รูหู ผ่านทางท่อที่มีติดต่อกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ และนำไปสู่การอักเสบของหูได้ 

ประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพในช่องปากและป้องกันปัจจัยเสี่ยงร่วม ด้วยมาตรการ 3อ. 2ส. 1ฟ. โดย 3 อ. คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการทำอารมณ์ให้แจ่มใส 2ส. คือ การไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ และ 1ฟ. คือ ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสมด้วยสูตร 2 : 2 : 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดรับประทานอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
        
 ทันตแพทย์สุธา กล่าวต่อว่า โรคต่างๆ ในช่องปาก อาทิ โรคฟันผุ หากปล่อยให้การผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายออกจากฟันไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ บางครั้งการติดเชื้อจะมีการลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคปริทันต์และมีอาการบวมเข้าไปในช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อบางตำแหน่งจะกดหลอดลม เป็นเหตุให้หายใจไม่ออก เชื้อโรคจากการอักเสบเป็นหนองของรากฟันกรามบน จะแพร่กระจายเข้าไปในโพรงอากาศหรือไซนัสได้ด้วย เพราะรากฟันกรามบนติดชิดอยู่กับไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของไซนัสตามมาจนสามารถกลายเป็นโรคเรื้อรังได้อีกโรคหนึ่ง และถ้าหากเชื้อนั้นมีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน อาจมีอันตรายรวดเร็วถึงชีวิต เช่น ในรายที่โลหิตเป็นพิษ หรือหากเชื้อมีความรุนแรงน้อย การแพร่กระจายของเชื้อจะทำลายสุขภาพอย่างช้าๆ เมื่อถึงระยะที่ร่างกายอ่อนแอมีความต้านทานโรคต่ำอาการของโรคจึงจะปรากฏให้เห็น สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคในช่องปากร่วมด้วยจะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี แต่ถ้าสามารถลดการอักเสบของช่องปากได้ก็จะทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นด้วย


"ผู้ที่มีโรคประจำตัว และกินยาเพื่อรักษาโรคเป็นประจำ เมื่อมารับบริการทางทันตกรรม ต้องแจ้งให้ ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทราบเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เช่น ในรายที่กินยาสลายลิ่มเลือด โดยเฉพาะที่ได้รับยาแอสไพริน อาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากการขูดหินปูน ผู้ที่เป็นโรคไต หรือมีประวัติเคยล้างไต เพราะผู้ป่วยเหล่านี้อาจะเคยได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คนที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคลมชัก ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ผู้ที่เคยได้รับเคมีบำบัดต้องหมั่นมาพบทันตแพทย์ เพราะผลแทรกซ้อนจากเคมีบำบัดมีผลต่อระบบเลือด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการซีด ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย สามารถเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ ทำให้เกิดแผลในช่องปาก เกิดการติดเชื้อ มีเลือดออก เกิดอาการปวด และกินอาหารไม่ได้”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2559 เวลา : 12:53:42

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:22 am