อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงประชาชนป่วยโรคอาหารเป็นพิษในหน้าร้อน เผยเกือบ 2 เดือนมานี้ พบทั่วประเทศป่วย 13,689 คน มีทุกจังหวัด ชี้อุณหภูมิที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะมีผู้ป่วยในจังหวัดเพิ่มขึ้น 25 คน แนะให้ประชาชนอุ่นอาหารแช่เย็นให้เดือดก่อนรับประทานทุกครั้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากความเย็นไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่ช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคเจริญเติบโต และหากมีอาการท้องเสียแล้วห้ามกินยาหยุดถ่าย เพราะอาจทำให้ลำไส้กักเก็บเชื้อโรคไว้นานขึ้น เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าวขณะนี้บางแห่งสูง 40 - 42 องศาเซลเซียส กรม สบส.มีความเป็นห่วงประชาชนจะมีความเสี่ยงป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษมากขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วงอากาศร้อนอาหารจะบูดเสียได้ง่าย โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสจะทำให้มีจำนวนคนป่วยรายจังหวัดของเดือนนั้นๆเพิ่มขึ้นได้ 25 คน และน้ำก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้เช่นกัน
จากการติดตามข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในช่วงเกือบ 4 เดือนปีนี้มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษรวม 36,709 คน ไม่มีเสียชีวิต เฉพาะช่วงเกือบ 2 เดือนที่อากาศเริ่มร้อนขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2559 มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทุกจังหวัด รวม 13,689 คน ส่วนใหญ่พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อนจะมีไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2559
“เรื่องที่น่าห่วง ขณะนี้พบว่าประชาชนนิยมเก็บอาหารค้างมื้อหรือซื้ออาหารปรุงสำเร็จมาแล้ว เก็บแช่ไว้ในตู้เย็น ซึ่งขณะนี้มีใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก่อนนำมารับประทานขอให้อุ่นด้วยความร้อนให้เดือดก่อนทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรคให้หมดไป เนื่องจากความเย็นในตู้เย็นไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เพียงแต่ช่วยให้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเท่านั้น” นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรืองกล่าว
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่เป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ ในกรณีที่ประชาชนเกิดอาการท้องเสียห้ามรับประทานยาหยุดถ่าย เนื่องจากการถ่ายเป็นกลไกของร่างกายในการขับเชื้อโรคและของเสียออกจากร่างกายหากรับประทานยาห้ามถ่ายเข้าไปจะทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง จากเดิมที่เคยบิดตัวเพื่อไล่ของเสียออกไป ลำไส้ก็จะอยู่นิ่งๆ ทำให้เชื้อโรคคั่งค้างและเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ อาจเข้าสู่กระแสเลือดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษ พบได้ทุกกลุ่มอายุ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือปนเปื้อนสารพิษสารเคมี เกิดได้ทุกขั้นตอนของอาหาร เช่นปนเปื้อนจากวัตถุดิบ จากการปรุง หรือการเก็บอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดบิด ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดศีรษะหากครอบครัวใดมีผู้ที่มีอาการดังกล่าว สามารถให้การดูแลเบื้องต้นโดยไม่ต้องงดอาหาร ขอให้กินอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์เอสแทนน้ำ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ อาการจะค่อยๆดีขึ้น หากไม่ดีขึ้นคือถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น อาเจียนบ่อยขึ้น กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล ขอให้รีบปรึกษา อสม.ที่อยู่ใกล้ หรือไปพบเจ้าหน้าที่ที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ภานุวัฒน์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษขอให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้เดือดก่อนรับประทานทุกครั้ง ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่มีตราเครื่องหมาย อย.
ข่าวเด่น