สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) รายงานข้อมูลสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเดือน เม.ย. 2559 พบว่า สัดส่วนระหว่างผู้รับชมช่องรายการโทรทัศน์ช่องเดิม 6 ช่อง กับช่องรายการดิจิตอลทีวีใหม่ 20 ช่อง เพิ่มขึ้นเป็น 57% ต่อ 43% ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันของผู้ประกอบการช่องรายการ และผู้ผลิตเนื้อหารายการ ที่พยายามสร้างสิ่งที่น่าสนใจเพื่อตอบโจทย์ประชาชนทั้งในวงกว้าง และแบบเฉพาะกลุ่มตามความถนัดของแต่ละช่อง อีกทั้งการขยายโครงข่ายขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นไปตามแผน สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงดิจิตอลทีวีได้มากขึ้น
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย. 2559 ช่องที่มีอันดับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 1 ได้แก่ ช่อง 7 ตามด้วยอันดับที่ 2 ช่อง3HD และอันดับที่ 3 ช่องเวิร์คพอยท์
สำนักงาน กสทช. ระบุว่า การเลือกรับชมช่องรายการโทรทัศน์ยังมีความสัมพันธ์กับรายได้ของผู้ชม โดยมีการแบ่งกลุ่มรายได้ของผู้ชมออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ชมที่มีรายได้ระดับต่ำถึงระดับกลาง และกลุ่มผู้ชมที่มีรายได้ระดับสูงถึงสูงมาก จากจำนวนประชากรทั่วประเทศ 66.04 ล้านคน พบว่าผู้ชมในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงถึงสูงมาก คือ มีรายได้ต่อครัวเรือนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป เลือกรับชมช่อง3 แฟมิลี่ ถึง 46% ของผู้ชมช่องรายการนี้ทั้งหมด รวมทั้งช่องบริการสาธารณะ ช่องในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ และช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งอยู่ในหมวดช่องความคมชัดสูงเพียงช่องเดียวที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมที่มีรายได้สูงถึงสูงมาก
ส่วนผู้รับชมต่างจังหวัดในเขตเทศบาล หรือในตัวเมืองนั้น พบว่า การรับชมอันดับต้น ๆ ของผู้มีรายได้สูงต่างจังหวัดในเขตเทศบาล คือ มีรายได้ต่อครัวเรือนตั้งแต่ 4 หมื่นบาทขึ้นไป ยังเป็นช่องรายการข่าวสารและสาระ และช่องบริการสาธารณะ มีเพียงช่องGMM25 ซึ่งอยู่ในหมวดช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดปกติที่มีสัดส่วนผู้ชมในกลุ่มนี้อยู่ในอันดับต้นๆ
สำหรับในต่างจังหวัดนอกเขตเทศบาลนั้น กลุ่มผู้มีรายได้สูง คือ มีรายได้ต่อครัวเรือนตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป นิยมรับชมช่องรายการประเภทข่าวสารและสาระ เช่น ช่องวอยซ์ทีวี ช่องเนชั่นทีวี ช่องสปริงนิวส์ ช่องไบรท์ทีวี และช่อง TNN24
ดังนั้นเมื่อนำประชาชนที่อยู่แต่ละระดับรายได้ ในเขตต่างๆ มาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าช่องรายการที่ไม่ได้มีค่าความนิยมในภาพรวมอยู่ในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะช่องรายการประเภทธุรกิจในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว กลับมีผู้ชมที่มีระดับรายได้สูงนิยมรับชมในสัดส่วนที่มากกว่าช่องวาไรตี้ ซึ่งมีรายการที่เป็นประโยชน์ในเชิงการให้ความรู้ สาระบันเทิง รายการเพื่อเด็กและครอบครัว แม้จะเป็นเนื้อหารายการที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมทั่วไป
ด้านมูลค่าโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในเดือนมี.ค. 2559 มีมูลค่า 6,571 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 25% จากเดือนก.พ. 2559 แบ่งเป็นมูลค่าโฆษณาในช่องรายการเดิม 4,843 ล้านบาท และช่องรายการดิจิตอลใหม่ 1,728 ล้านบาท โดยในส่วนของมูลค่าโฆษณาในช่องรายการดิจิตอลใหม่นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 281 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 19% จากเดือนก่อนหน้า
ข่าวเด่น