นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ได้หารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Francisco de Assis Morais e Cunha Vaz Patto) ที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยการหารือครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกส ที่ดำเนินมายาวนานกว่า 505 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นางอภิรดี กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้โปรตุเกสเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศ ต้องการสร้างรากฐานของเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยขณะนี้ไทยได้ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้ากับนานาประเทศ ผ่านการจัดทำความตกลง FTA รวมทั้งได้เชิญชวนนักลงทุนโปรตุเกสให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และได้เชิญร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญๆ อาทิ THAIFEX-World of Food Asia 2016 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2559 “งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ” ครั้งที่ 58 (The 58th Bangkok Gems and Jewelry Fair) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2559
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะมีความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยี ในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ระหว่างกัน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเกษตรแปรรูป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตโปรตุเกสแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2054 ซึ่งทำให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์กันทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า สังคม การเมือง และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ในส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยและโปรตุเกสก็ดำเนินด้วยความราบรื่น โดยโปรตุเกสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 75 ของไทยและเป็นอันดับที่ 17 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 28 ประเทศ
ทั้งนี้ โอกาสในการส่งเสริมการค้าระหว่างกันมีอยู่มาก ในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 216.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังโปรตุเกสมีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ รถยนต์ เครื่องวีดีโอ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ในด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าจากโปรตุเกสมีมูลค่า 73.29 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใย ในส่วนการลงทุน นักลงทุนโปรตุเกสเข้ามาลงทุนในไทยไม่มากนัก ในขณะที่นักธุรกิจไทยเริ่มให้ความสนใจในการสำรวจลู่ทางการลงทุนในโปรตุเกสมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่องเที่ยว
ข่าวเด่น