ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เผยผลสำรวจมุมมองของผู้ใช้รถใช้ถนนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในเรื่องต่างๆ อาทิ ความหงุดหงิดจากปัญหาการจราจรติดขัด ความเครียดจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ไปจนถึงทัศนคติด้านบวกเกี่ยวกับการสัญจรในชีวิตประจำวันที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
แม้ว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศไทยเปิดเผยว่า พวกเขาใช้เวลาในการเดินทางสัญจรมากกว่าในปีที่ผ่านมา แต่เกือบครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นว่า การสัญจรของพวกเขามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ 3 ใน 10 ของผู้ทำแบบสอบถามไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง และน้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดรู้สึกว่า การสัญจรของพวกเขาแย่ลง
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวเวียดนามส่วนใหญ่เผยว่า การสัญจรของพวกเขาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตามด้วยผู้สัญจรในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย และผู้ทำแบบสอบถามจากทั้งสามประเทศนี้ต่างรู้สึกพึงพอใจกับการสัญจรภายในประเทศของตนเองมากเป็นอันดับต้นๆ
ในอีกมุมหนึ่งของผลสำรวจพบว่า ผู้สัญจรชาวฟิลิปปินส์แซงหน้าผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีนมาเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในการใช้รถใช้ถนนน้อยที่สุด เนื่องมาจากคุณภาพอันเสื่อมโทรมของการสัญจรในประเทศ โดยมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในประเทศจีนและฟิลิปปินส์เผยว่า การสัญจรของพวกเขาเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของวัน สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามในไต้หวันและเกาหลีใต้มากกว่าครึ่งเผยว่า พวกเขาไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องคุณภาพของการสัญจรแต่อย่างใด
ผู้สัญจรชาวไทยใช้เวลาส่วนใหญ่บนท้องถนน แต่ยังมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้รถใช้ถนนในชีวิตประจำวัน โดยมากกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของผู้สัญจรชาวไทยใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าในปีที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ว่าระยะเวลาการสัญจรจะเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ส่งผลให้ผู้ขับขี่สัญจรมีอารมณ์ที่แย่ลง จากการสำรวจพบว่า ผู้สัญจรในประเทศไทยมีความรู้สึกเชิงบวกต่อวิถีการเดินทางในชีวิตประจำวัน โดย 46 เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นว่า การเดินทางของพวกเขาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยอีก 31 เปอร์เซ็นต์ ไม่พบความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนอีก 23 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า การสัญจรในประเทศไทยแย่ลง
ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเผยว่าการสัญจรของพวกเขาดีขึ้นนั้นมาจาก
· ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ถูกลง 30%
· หาที่จอดรถได้ง่ายขึ้น 19%
· การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมีความแออัดน้อยลงและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 19%
· การจราจรติดขัดน้อยลง 17%
อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคนไม่ได้เห็นตรงกัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 22 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า การสัญจรบนท้องถนนมีความแออัดและติดขัดมากยิ่งขึ้น และอีก 16 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่า พวกเขาหาที่จอดรถได้ยาก ในขณะที่อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เปิดเผยว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความแออัดมากยิ่งขึ้นและไม่สะดวกสบายเท่ากับในปีที่ผ่านมา
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยครึ่งหนึ่งเผยว่า การสัญจรของพวกเขามีราคาสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมัน (34 เปอร์เซ็นต์) ค่าโดยสารรถสาธารณะและค่าทางด่วนที่มีราคาสูงขึ้น (27 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนั้น การเลือกใช้บริการในการสัญจรส่วนบุคคลก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งผู้สัญจรมักเลือกรถแท็กซี่ (14 เปอร์เซ็นต์) แอพเรียกรถแท็กซี่ (11 เปอร์เซ็นต์) และบริการแชร์รถ (10 เปอร์เซ็นต์) มากกว่าที่จะเลือกใช้การสัญจรที่มีราคาถูกกว่า
“ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต่างเผชิญกับปัญหาการสัญจรที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ และผลสำรวจล่าสุดจากฟอร์ดได้สะท้อนทุกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น” จอห์น ลาร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ด ประจำฟอร์ด เอเชียแปซิฟิก กล่าว “ความท้าทายเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการเดินหน้าแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ด ซึ่งมีเป้าหมายที่จะร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั่วโลก พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่อย่างตรงจุดเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้แก่ประชากรทั่วโลก”
แผนการสัญจรอัจฉริยะ เป็นแผนงานของฟอร์ดที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อสื่อสาร นวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ การสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจให้แก่ผู้ขับขี่ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล สิ่งเหล่านี้ครอบคลุมเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหมดของฟอร์ด ตั้งแต่ระบบสั่งงานด้วยเสียงหรือซิงค์ (SYNC) ไปจนถึง 30 บททดสอบด้านการสัญจรทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกและหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนแปลงลักษณะและความต้องการด้านการสัญจรของผู้บริโภค
แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีการสัญจร
การดำเนินแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดขับเคลื่อนมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญโลกของเรา ได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของชนชั้นกลาง ปัญหาทางด้านคุณภาพอากาศและสาธารณสุข และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการลำดับความสำคัญของผู้บริโภค
แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดนั้นรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับการติดตั้งแล้วในรถฟอร์ดทั่วโลก และการดำเนินงานในโครงการวิจัยระยะยาว อาทิ นวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ความยืดหยุ่นของการเป็นเจ้าของ และการแชร์รถ เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ
ฟอร์ดได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อสื่อสารภายในรถมาตั้งแต่เริ่มเปิดตัวระบบสั่งงานด้วยเสียงหรือซิงค์ (SYNC) รุ่นแรกเมื่อปี 2007 เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงครองตำแหน่งระบบการสื่อสารและให้ความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบบสั่งงานด้วยเสียงหรือซิงค์นี้ เมื่อผนวกกับแพลตฟอร์ม SYNC AppLink ของฟอร์ด จะช่วยทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนผ่านระบบการควบคุมด้วยเสียง ทำให้ผู้ขับขี่เชื่อมต่อสื่อสารกับโลกกว้างได้อย่างที่ไม่เคยมาก่อนในขณะที่ยังสามารถพุ่งสมาธิในการขับขี่และไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยและละสายตาไปจากถนน
นอกเหนือจากการเชื่อมต่อสื่อสารแล้ว ฟอร์ดยังมีจำนวนยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติที่มากที่สุดเหนือผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย และกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองเทคโนโลยีเหล่านี้กับทุกสภาพอากาศในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการทดสอบในสภาวะแวดล้อมท่ามกลางหิมะเป็นครั้งแรก และฟอร์ดพร้อมลงทุนด้านวิศวกรรมเพิ่มเป็นสามเท่าทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่และเทคโนโลยีกึ่งอัตโนมัติสำหรับยานยนต์ ทั้งนี้ เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่นำมาใช้ในรถยนต์ของฟอร์ดแล้ว ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ระบบเตือนและควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางขับขี่ (Lane-Departure Warning และ Lane-Keeping Aid) และ ระบบตรวจจับรถในจุดบอด (Blind Spot Information System)
“แผนการสัญจรของฟอร์ดเป็นการสร้างความมั่นใจในอิสระแห่งการสัญจรสำหรับประชากรทุกคนทั่วโลก” ลาร์สัน กล่าว “และนี่คือการคำนึงถึงความต้องการในวันพรุ่งนี้และภายภาคหน้า และการพัฒนาเพื่อสร้างอนาคตอันชาญฉลาด มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นความจริงสำหรับทุกคน”
การสำรวจออนไลน์ครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย GlobalWebIndex ให้กับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 12,619 คน จาก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย (1,053 คน) จีน (1,058 คน) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( 1,047 คน) อินเดีย (1,050 คน) อินโดนีเซีย (1,052 คน) มาเลเซีย (1,050 คน) นิวซีแลนด์ (1,050 คน) ฟิลิปปินส์ (1,052 คน) เกาหลีใต้ (1,057 คน) เกาะไต้หวัน (1,050 คน) ไทย (1,049 คน) และเวียดนาม (1,051 คน) โดยได้ทำการสำรวจเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ข่าวเด่น