เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐกาตาร์ประจำประเทศไทย นายจาเบอร์ อะลี เอช. เอ. อัดเดาซะรีย์ (H.E. Mr. Jabor Ali H. A. Al-Dosari) เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2559 เป็นปีที่ไทยและกาตาร์ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 36 ปี โดยที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด ในด้านเศรษฐกิจการค้า กาตาร์เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย และสามารถเป็นประตูสู่ตะวันออกกลาง และไทยมีศักยภาพในการเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับกาตาร์ เป็นประตูการค้าไปยังอาเซียนและประเทศสมาชิก RCEP ได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนด กาตาร์ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทย โดยเห็นว่า ปัจจุบันไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้กาตาร์ต้องการขยายการค้าและการลงทุนกับไทย รวมถึงแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และการทำ Joint Venture ไปลงทุนในประเทศที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ กาตาร์ต้องการให้มีการพบปะหารืออย่างใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและกาตาร์ และหน่วยงานภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย โดยกาตาร์จะเชิญรองนายกรัฐมนตรีและคณะเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการในโอกาสแรก
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีที่ชาวกาตาร์นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยในแต่ละปีมีชาวกาตาร์เดินทางท่องเที่ยวและรับการรักษาพยาบาลในไทยประมาณ 30,000 คน ทั้งนี้ ไทยมีจุดแข็งในการเป็น Medical Hub และรัฐบาลยังมีมาตรการยกเว้นวีซ่าสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 คน เป็นเวลา 90 วัน อีกทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวก และให้บริการที่ถูกต้องตรงตามหลักศาสนา ฝ่ายกาตาร์แจ้งว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม GCC ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยมากกว่า 1 ล้านคน จึงขอฝากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยดูแลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยด้วย
ในปี 2565 กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก จึงมีแผนที่จะก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่จำนวนมาก ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อาทิ โรงแรม ที่พักนักกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปลงทุนในสาขาก่อสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรม เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงและมีคุณภาพเป็นที่พอใจของกาตาร์ รมช.พาณิชย์ จึงเล็งเห็นว่าไทยสามารถสนับสนุนกาตาร์ในด้านสินค้าและบริการ อาทิ อาหารและสินค้าฮาลาล เครื่องปรับอากาศและระบบทำความเย็น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้าน การออกแบบสนามภายนอกอาคาร และการปรับภูมิทัศน์
จกาตาร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 25 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) การค้าระหว่างไทยกับกาตาร์มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3,584.28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับกาตาร์ ในปี 2558 การค้ารวมระหว่างไทยกับกาตาร์มีมูลค่า 3,354.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.80 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปกาตาร์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตู้เย็น ตู้แช่แข็งละส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง ข้าว เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากกาตาร์ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น
ข่าวเด่น