กระทรวงอุตสาหกรรม เผยนโยบายภายใต้ 'คณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม'หรือ 'สปริงบอร์ด' (Spring Board) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปรับโครงสร้าง ด้านการบูรณาการ และด้านการเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมเปิดตัวโครงการเอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring Up) หลักสูตรการอบรมระดับสูงที่รวมรวบผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการ การผลิต ฯลฯ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงการขยายผลหลักสูตรดังกล่าว นำมาเป็นแผนการดำเนินงานในการพัฒนา SMEs ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้ง “คณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม” หรือ “สปริงบอร์ด” (Spring Board) อันประกอบไปด้วย ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานธุรกิจอุตสาหกรรม จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธ์ศาสตร์ส่งเสริมผลิตภาพ และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันใน 3 ด้าน
ได้แก่ ด้านการปรับโครงสร้าง (Institutional Role) เพื่อกำหนดแนวทางปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมในภาพรวม อาทิ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันอาหาร เป็นต้น ด้านการบูรณาการ (Integration Role) มีบทบาทในการประสานงานตลอดจนสร้างช่องทาง (Platform) ในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนามาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมในเชิงประชารัฐ ด้านการเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity Building Role) เป็นการกำหนดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพ SMEs ผ่านโครงการ SMEs SPRING UP
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ภายใต้การดำเนินของคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ฯ หรือ “สปริงบอร์ด” ได้ดำเนินโครงการเอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring UP) โครงการที่รวมรวบผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดบทเรียน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฯลฯ
โดยในปี 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำร่องคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs จากสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ดิจิทัล แฟชั่น และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังคัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เคยได้รับรางวัลต่าง ๆ จากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรธุรกิจที่มีกิจกรรมทางสังคมที่โดดเด่น และนักวิชาการที่มีเชื่อเสียง ตลอดจนสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมจำนวนประมาณ 100 คน เข้าร่วมอบรมหลักสูตรในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับ SMEs ไทยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมให้แก่ SMEs ในวงกว้างด้วย โดยผลลัพธ์จากการเรียนหลักสูตรดังกล่าวจะถูกนำมาเป็นแผนการดำเนินงานในการพัฒนา SMEs ของกระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป ดร.อรรชกา กล่าว
ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า หลักสูตรของโครงการเอสเอ็มอี สปริงอัพ ประกอบไปด้วยโครงสร้างหลักสูตร 4 หมวด ได้แก่ 1. หลักสูตรนโยบายของรัฐกับการส่งเสริม SMEs ผู้บริหารจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวนโยบายของรัฐในการผลักดันธุรกิจ SMEs และสามารถวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่มีต่อองค์กรธุรกิจของตน รวมทั้งสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจขอบตนให้รับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้
2. หลักสูตร SMEs กับการต่อยอดมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม ผู้บริหารจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญในการนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแข่งขัน จากองค์กรธุรกิจต้นแบบ เพื่อต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล
3. หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับแนวคิดการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดี สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ สู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และ 4. หลักสูตรการเสริมสร้างประสบการณ์ผู้ประกอบการเชิงประจักษ์ เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ ผู้บริหารที่เข้าร่วมโครงการทำกิจกรรมศึกษาดูงานองค์กรด้านมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป Discuss Coaching เชื่อมโยงนโยบายรัฐ ตลอดจนการระดมสมองเพื่อสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศและพัฒนา SMEs ไทย
ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ เอสเอ็มอี สปริงอัพ (SMEs Spring Up) ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างจริงจัง โดยผู้ประกอบการเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้แนวปฏิบัติของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อนำไปปรับใช้ รวมถึงแสวงหาโอกาสร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจ เช่น การต่อยอดความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ การสนับสนุนด้านเงินทุน รวมทั้งเครือข่ายทางการตลาด เป็นต้น
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่รวดเร็วและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ธุรกิจ SMEs หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องมีการปรับตัว การนำองค์กรสู่ความสำเร็จด้วยแนวคิดมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและพร้อมกับการแข่งขันในเวทีโลก เช่น การพัฒนาและผลิตสินค้าและบริการให้เป็นไปตามหรือดีกว่ามาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การยอมรับในสินค้าและบริการในระดับสากลมีเป้าหมายเพื่อยกระดับ การนำเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ มาปรับปรุงผลิตภาพ จะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ
ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ด้วยความมุ่งมั่นของภาครัฐภาคเอกชนในการดำเนินโครงการเอสเอ็มอี สปริงอัพ ครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญตามแนวนโยบายประชารัฐ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมั่นคง เป็นการผลักดันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนยังสามารถตอบเป้าหมายในพัฒนา 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ซึ่งจะนำไปสู่อัตราการเจริญเติบโตของประเทศ สู่สังคมและเศรษฐกิจที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นต่อไป
ข่าวเด่น