ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในโรงพยาบาล ให้รองรับปริมาณน้ำเสียที่มากขึ้นในอนาคต กำชับโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เข้มงวดตรวจเช็คคุณภาพน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดทุก 3 เดือน ให้ปลอดเชื้อโรคก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ เช่น รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
วันนี้ (28 เมษายน 2559) ที่โรงพยาบาลสตูล จังหวัดสตูล นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ในพื้นที่ภาคใต้ และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่หลักในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ดำเนินการทั้งส่งเสริม ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดบริการประชาชนนั้น นอกจากศักยภาพของบุคลากร ความพร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงคือ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานบริการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งขยะ และน้ำเสีย จากการบริการประชาชน ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งต้องดำเนินการพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการรักษาสุขภาพประชาชน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในแต่ละวันโรงพยาบาล จะมีการใช้น้ำจำนวนมาก ทั้งในการบริการผู้ป่วย ซักล้าง ทำความสะอาด โดยคาดประมาณว่า ปริมาณการใช้น้ำของโรงพยาบาลต่อผู้รับบริการ 1 เตียง อยู่ที่ประมาณ 800 ลิตร และโรงพยาบาลจะทำการบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้น ให้ปลอดจากสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนรวมถึงเชื้อโรค ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เข้มงวดการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ มีการตรวจเช็คคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดทุก 3 เดือน นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งได้นำน้ำที่ผ่านระบบการบำบัดมาใช้ประโยชน์ อาทิ ใช้รดน้ำต้นไม้และสนามหญ้า ทำให้ประหยัดและลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้
โดยในปี พ.ศ.2560-2565 กระทรวงสาธารณสุข มีแผนในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ในโรงพยาบาลที่มีขนาดตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไป ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีระบบบำบัดน้ำเสีย 884 แห่งเหลืออีก 4 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตั้งใหม่
ข่าวเด่น