นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นวงกว้าง กว่า 1.7 แสนหลังคาเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ และเกือบ 4 แสนครอบครัวไม่มีน้ำประปา ระบบการคมนาคม สนามบิน ทางด่วน ถูกตัดขาด ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงบริษัทหลายแห่งหยุดการจัดส่งชิ้นส่วน เนื่องจากทำการผลิตไม่ได้ การส่งสินค้าอาหารสดมีปริมาณลดลงอย่างมาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของญี่ปุ่น โดยในเบื้องต้นมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียวและนครโอซากา รายงานว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาคาร ที่พักอาศัย ตลอดจนถนนหนทาง ในเกาะคิวชูได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฟื้นฟูในกลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว และประเทศไทยมีความพร้อมให้ความร่วมมือในหลายๆ ด้าน ทั้งวัสดุก่อสร้างต่างๆ รวมถึงบ้านกึ่งสำเร็จรูป คอนเทนเนอร์เพื่อทำบ้านชั่วคราว และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ โดยจากสถิติการส่งออกอาคารสำเร็จรูป (Prefabricated Buildings) ของไทย มีการส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง และเติบโตอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จากกรณีที่มีการปิดโรงงานผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในเกาะคิวชูชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนบางชนิดได้ บริษัทแม่ของผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญ อาจพิจารณานำเข้าชิ้นส่วนที่ขาดแคลนจากประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว รวมทั้งสินค้ายังชีพอื่นๆ อาทิ อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่สามารถบริโภคได้ทันที หรือ มีวิธีการปรุงง่าย และสินค้าของใช้ในบ้าน ซึ่งในระยะต่อไปอาจมีความต้องการเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้
ทั้งนี้เกาะคิวชูเป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ของประเทศมานาน เป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ไดฮัทสุ มิตซูบิชิ โซนี่ ฯลฯ โดยผลิตเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ (1.3 ล้านหน่วย) ในภาคการเกษตรจังหวัด คุมะโมะโตะเป็นจังหวัดการเกษตรสำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการผลิตมะเขือเทศ เมลอน หอมใหญ่ มันฝรั่ง ฯลฯ ส่วนการท่องเที่ยวในต้นเดือนพฤษภาคมหรือช่วงโกลเด้นวีคของญี่ปุ่น บริษัททัวร์ต่างยกเลิกการเดินทางและย้ายจุดหมายไปยังภูมิภาคอื่นแทน
ข่าวเด่น