โฆษกรัฐบาล เผย กรณีปิดสถานีวิทยุเสียงธรรมบางแห่ง เหตุเสาส่งสูง สัญญาณแรงเกินข้อกำหนด คลื่นรบกวนการบินและสถานีอื่น วอนทุกฝ่ายยึดหลักกฎหมาย หันหน้าพูดคุย เล็งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
วันนี้(28เม.ย.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีคณะสงฆ์และมูลนิธิสถานีวิทยุเสียงธรรมหลวงตาฯ ประกาศเตรียมคว่ำบาตร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเพิกเฉยต่อการร้องทุกข์กรณี กสทช. สั่งปิดสถานีวิทยุเสียงธรรม ของกลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว (วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี) ว่ามูลนิธิเสียงธรรม ได้รับใบอนุญาตและทำข้อตกลง (MOU) กับ กสทช. แล้วสามารถออกอากาศได้ทั้งสิ้น 119 สถานี ซึ่งเต็มจำนวนตามสิทธิ์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่มูลนิธิฯ ยื่นคำขอเกินสิทธิ์อีก 15 สถานี และร้องขอให้สามารถออกอากาศด้วยสัญญาณแรงเทียบเท่าคลื่นหลักซึ่งไม่สามารถอนุญาตได้
“รัฐบาลได้รับรายงานจาก กสทช. ถึงมูลเหตุที่ต้องสั่งปิดสถานีวิทยุเสียงธรรม เนื่องจาก สถานีวิทยุใช้เสาส่งสัญญาณที่มีความสูงและมีกำลังส่งไกลเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อคลื่นวิทยุการบิน และสถานีวิทยุอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงทางออกร่วมกันหลายครั้งแต่ไม่สัมฤทธิ์ผล จนกระทั่งมหาเถรสมาคมได้มอบให้ท่านเจ้าคุณพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจาและได้ข้อสรุปว่ามูลนิธิฯ จะต้องยึดหลักดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ท่านนายกฯ เข้าใจเจตนารมณ์ของกลุ่มคณะสงฆ์และลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวบางส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหว ว่าต้องการให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ผ่านวิทยุเสียงธรรม และเห็นว่ายิ่งสามารถส่งสัญญาณออกอากาศได้แรงได้ไกลยิ่งเป็นการดี แต่อยากให้คำนึงถึงสถานีวิทยุอื่นๆ อีกหลายพันแห่งที่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายแต่ไม่สามารถออกอากาศได้เพราะถูกคลื่นที่มีกำลังแรงกว่ารบกวน
“ท่านนายกฯ มิได้เพิกเฉยหรือหลบเลี่ยงการร้องทุกข์ และยิ่งไม่เคยคิดเป็นปฏิปักษ์กับคณะสงฆ์และพุทธศาสนา รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนได้รับความรู้และยกระดับจิตใจผ่านรายการวิทยุธรรมะ แต่ทุกวันนี้มีวิทยุชุมชนเป็นพันๆ สถานี หากทุกที่ส่งสัญญาณแรงแข่งกันจะไม่มีสถานีไหนสามารถฟังได้ กสทช. จึงต้องกำหนดกติกาและควบคุมให้ทุกสถานีปฏิบัติตามกฎหมาย จึงอยากให้คณะสงฆ์และมูลนิธิเสียงธรรมเข้าใจกติกาส่วนรวม พร้อมทั้งหันหน้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกันและดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกับผู้อื่นเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม”
ข่าวเด่น