ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศค.เผยศก.มี.ค.59และไตรมาสแรกปีนี้ฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป


 


เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง และกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ชะลอลง
 
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 “เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง และกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ชะลอลง” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
 
 

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคมที่กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อไตรมาส สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลออก ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์จักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี แต่ยังขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อไตรมาสหลังปรับผลทางฤดูกาลออก 

ด้านปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 18.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี และยังขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อไตรมาสหลังปรับผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงหดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยยังไม่ฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี และยังขยายตัวเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว     ร้อยละ 3.4 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่าปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อไตรมาสหลังปรับผลทางฤดูกาล สำหรับ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปีในเดือนมีนาคม 2559 แต่หดตัวเล็กน้อยในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวได้ร้อยละ 0.5 ต่อไตรมาส

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2559) สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมีนาคมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 259.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี มาจาก (1) รายจ่ายประจำที่หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี ขณะที่ (2) รายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2559) รายจ่ายรวมสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 680.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า ในเดือนมีนาคมรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน     -77.8 พันล้านบาท ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2559) ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน        -204.8 พันล้านบาท

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยในเดือนมีนาคมมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -9.0 ต่อเดือน โดยมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมาจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ และทองคำ รวมถึงการส่งออกสินค้าในหมวดรถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องจักร ที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน-5 และทวีปออสเตรเลีย ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อไตรมาส

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2559 ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกกลุ่มภูมิภาค โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกและจากยุโรปเป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 14.8 ต่อไตรมาส สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี แต่ยังขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อไตรมาสหลังปรับทางฤดูกาลออก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 86.7 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ได้แก่ มาตรการกระตุ้น                    ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างมี   ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าประเภทยาสูบยังคงมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าแสตมป์ยาสูบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา      ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใน    ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ -0.5 และขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.97 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.1 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 175.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.3 เท่า 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2559 เวลา : 13:56:02

20-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 20, 2024, 5:10 pm