เกษตรฯ เปิดเวทีถกทิศทางการประมงนอกน่านน้ำ ครั้งแรก หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 คาดเป็นแนวทางพัฒนาประมงนอกน่านน้ำให้ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการสัมมนาวิชาการ“ทิศทางประมงนอกน่านน้ำไทยภายหลังพระราชกำหนดการประมง 2558” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อชี้แจงนโยบาย กฎหมาย หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติ ตามพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ พร้อมร่วมรับฟังความคิดเห็นจากเวทีอภิปรายของผู้เกี่ยวข้องในวงการประมงนอกน่านน้ำ เพื่อกำหนดทิศทางการประมงนอกน่านน้ำของไทยให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบของประเทศ และกติกาสากล หวังเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้การประมงนอกน่านน้ำ กลับมาสร้างเศรษฐกิจของประเทศดังที่ผ่านมา
“การทำประมงนอกน่านน้ำหรือการทำประมงทะเลในรัฐต่างประเทศและการทำประมงในทะเลหลวงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา สามารถสร้างผลผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมประมงได้เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านตัน นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละนับแสนล้านบาท แต่ปัจจุบันการประมงนอกน่านน้ำของไทยกำลังอยู่ในวงล้อมของภาวะกดดันและข้อจำกัดทั้งจากภายในและภายนอก จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า “สาระสำคัญประการแรกที่ต้องการสร้างความเข้าใจ คือ วัตถุประสงค์ของการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 4 ว่ามุ่งหมายให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งมิได้มีความหมายจำกัดเพียงความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทยและท้องทะเลไทยเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่กว้างไกล ครอบคลุมถึงหมายถึงทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลและมหาสมุทรทั้งโลก ซึ่งขอย้ำว่าพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 นี้มีเจตนารมย์ที่กว้างขวางมาก
นอกจากนี้ ในภาวะปัจจุบันที่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำลดน้อยลง นานาประเทศต่างก็หวงแหนและออกมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งในอาณาเขตของประเทศตนเอง และที่เป็นน่านน้ำสากล ซึ่งประเทศต่างๆ ร่วมกันกำหนด พันธกรณีระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ และสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำของโลก ให้ผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำต้องปฎิบัติ ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมโลก ก็ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งไม่เพียงส่งผลถึงความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยเท่านั้น หากยังส่งผลถึงความยั่งยืนของทรัพยากรสัต์น้ำของโลกด้วย
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในหมวดของการทำประมงนอกน่านน้ำนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือ กับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือในการทำประมงกับรัฐต่าง ๆ และให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการทำหน้าที่อนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในภูมิภาค โดยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และเน้นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ให้มีพัฒนาระบบบริหารจัดการประมงนอกน่านน้ำ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำประมงนอกน่านน้ำ
ขณะเดียวกัน พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ยังเป็นเรื่องใหม่ กฎหมายนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจหรืออาจยังมีปัญหาหรือข้อติดขัดในทางปฏิบัติอยู่บ้าง แต่เพื่อจะพัฒนาการทำการประมงนอกน่านน้ำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดังที่เป็นมาตลอดมา จำเป็นที่จะต้องมีการปรึกษาหารือ และระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อขจัดข้อจำกัด และสร้างความร่วมมือระหว่างทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยร่วมกัน
การสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อชี้แจงแนวนโยบาย รวมถึงกฎหมาย หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติในการออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ ทั้งการประมงของรัฐชายฝั่งและการทำประมงในทะเลหลวง รวมทั้งเปิดเวทีให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดทิศทางการประมงนอกน่านน้ำของไทยในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่อไป ซึ่งเนื้อหาการสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กับการประมงนอกน่านน้ำไทย, กฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการทำประมงนอกน่านน้ำไทย, กฎระเบียบสำหรับเรือประมงไทยที่จะเข้าไปทำการประมงในทะเลหลวงและรัฐต่างประเทศ, ประเทศที่เป็นแหล่งประมงเป้าหมาย และรูปแบบความร่วมมือ, รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการทำประมงนอกน่านน้ำของไทย ผ่านการอภิปรายและบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ข่าวเด่น