ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โฆษกสธ.แจงกรณีถั่วเหลืองจีเอ็มโอ มีระบบเฝ้าระวังเข้มงวด-แนะสังเกตฉลากอาหาร


 


โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แจง อย.เฝ้าระวังเข้มงวดถั่วเหลือง จีเอ็มโอนำเข้า แนะประชาชนสังเกตฉลากอาหาร หากอาหารดังกล่าวมีส่วนประกอบของข้าวโพด/ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมในปริมาณตั้งแต่ร้อยละ5 ของน้ำหนัก ต้องแสดงข้อความกำกับว่า “อาหารดัดแปรพันธุกรรม” หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556
 

วันนี้(28 เมษายน 2559)นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้ค้นคว้าข้อมูลพบว่า ถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นพืชที่ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ทนต่อการใช้สารปราบวัชพืชไกลโฟเซต และดูดซึมเข้าไปในเนื้อของถั่วเหลืองทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารและเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งองค์การอนามัยโลกออกมายอมรับว่า สารไกลโฟเซตเป็นสารที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ขณะนี้ได้มีการประสานข้อมูลไปยังกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้วนั้น

 
 
 
กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งสอบข้อเท็จจริงโดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า 1. สารไกลโฟเซตเป็นสารปราบวัชพืชชนิดดูดซึมที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด 2. พืชที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้พืชชนิดนั้นมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่จำเพาะเจาะจงตรงตามความต้องการ เช่น ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต,ต้านทานแมลงศัตรูพืชได้, หรือมีสารอาหารทางโภชนาการหรือสารชีวโมเลกุลบางชนิดที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น 3.การใช้สารไกลโฟเซตในการกำจัดวัชพืชในแปลงพืชดัดแปรพันธุกรรมที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต จะทำให้พืชดัดแปรพันธุกรรมนั้นสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่อาจเกิดการตกค้างในพืชเหล่านั้นได้

ด้านเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่าสำหรับการดำเนินงานของอย.มีดังนี้ 1.มาตรการตามกฎหมาย มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปรพันธุกรรม โดยกำหนดให้ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำนวน 22 รายการ ที่มีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ ต้องมีการแสดงฉลาก“อาหารดัดแปรพันธุกรรม” ในส่วนของชื่ออาหารหรือส่วนประกอบของอาหารบนฉลากอาหาร ตามแต่กรณี และห้ามแสดงข้อความที่มีความหมายว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ตามกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่251) พ.ศ.2545 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม และห้ามการผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมครายไนน์ซี (Cry๙C DNA Sequence) หรือโปรตีนที่สร้างมาจากสารพันธุกรรมนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 345) พ.ศ.2555 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย หากตรวจพบว่า อาหารดัดแปรพันธุกรรมที่นำเข้ามานั้นเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยถือเป็นการจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังได้กำหนดชนิดและปริมาณสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 337) พ.ศ.2534 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หากตรวจพบว่ามีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างในถั่วเหลืองเกินปริมาณกว่าที่กำหนด คือ 20 ppm ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

2.การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะถูกสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบยีนดัดแปรพันธุกรรม และการแสดงฉลากของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ตลอดจนการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืช หากพบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนผลิตภัณฑ์จะต้องถูกเรียกเก็บคืนจากท้องตลาด และในการนำเข้าครั้งถัดไปสินค้าจะถูกอายัดเพื่อรอผลการตรวจวิเคราะห์ว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดจึงจะถอนการอายัดสินค้าดังกล่าว ซึ่งระบบการกักกันดังกล่าวจะถูกนำมาใช้จนมั่นใจว่าการนำเข้าในครั้งถัดไปสินค้าจะมีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ อย. ได้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม/ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศเพื่อตรวจหายีนดัดแปรพันธุกรรมและปริมาณสารไกลโฟเซตตกค้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. และใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูล ก่อนซื้อควรสังเกตฉลากอาหาร หากอาหารดังกล่าวมีส่วนประกอบของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม/ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมในปริมาณตั้งแต่ร้อยละ5 ของน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องแสดงข้อความกำกับว่า “อาหารดัดแปรพันธุกรรม” ในส่วนของชื่ออาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร บนฉลากอาหารตามแต่กรณี และควรสังเกตวันที่ผลิต วันที่ควรบริโภคก่อน สภาพภายนอกของบรรจุภัณฑ์ต้องสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสม หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่?าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2559 เวลา : 16:34:09

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:08 pm