นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยคนทำงานในทุกภาคส่วนในทุกระดับซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีหนี้สินจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลง จึงได้กำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมืออย่างเข้มข้นให้แก่คนทำงานในทุกระดับ ทั้งทำงานในสถานประกอบการหรือทำงานอิสระ รวมทั้งผู้ที่กำลังหางานทำ
โดยเน้นการพัฒนาฝีมือเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงาน เพื่อจะได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มอีก 20 สาขาอาชีพ จากเดิมที่กำหนดไว้แล้ว 35 สาขาอาชีพ รวมปัจจุบันมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวม 55 สาขาอาชีพ โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 340 บาทต่อวัน (ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1,ฯลฯ) สูงสุด 815 บาทต่อวัน (นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก ระดับ 2 (โภชนบำบัด) และในการฝึกอบรมทุกครั้งให้เน้นย้ำให้คนทำงานทุกคนน้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วย พร้อมทั้งกำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ร่วมเผยแพร่“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในทุกครั้งที่มีการอบรมให้ความรู้ในทุกกลุ่มอาชีพ
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า และเพื่อให้ได้ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของคนทำงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการสำรวจในเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีกองทุนเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับคนทำงานหลายกองทุน ทั้งเป็นการให้ทุนในการทำงาน กองทุนช่วยเหลือในยามเดือดร้อน และกองทุนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในยามประสบปัญหา ได้แก่ กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กองทุนผู้ใช้แรงงาน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
ข่าวเด่น