ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก 2559 ยังประคองทิศทางการขยายตัว แม้จะต้องรับมือกับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก"
แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมี.ค. 2559 และไตรมาส 1/2559 จะสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่ของเศรษฐกิจไทย แต่ก็คงต้องยอมรับว่า การกลับมาเป็นบวกของมูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 1/2559 นั้น เป็นภาพที่ค่อนข้างจะเหนือความคาดหมายของหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ อานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม และ/หรือธุรกิจบางส่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์เศรษฐกิจที่รออยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2559 น่าจะเป็นการเร่งผลักดันให้แรงหนุนจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทยอยส่งผลบวกที่ชัดเจนและต่อเนื่องครอบคลุมไปยังบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะภัยแล้ง และความไม่แน่นอนในทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ในไตรมาส 1/2559 สัญญาณเชิงบวกจากปริมาณการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทย ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2559 สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกที่ร้อยละ 1.1 YoY (หลังจากที่หดตัวตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมา) โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการพุ่งขึ้นของปริมาณการส่งออกทองคำ [+207.7% YoY ในไตรมาส 1/59 เทียบกับ +27.4% YoY ในไตรมาส 4/58] และการเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป อาทิ ข้าว และน้ำตาล ที่เพิ่มขึ้น 34.1% YoY และ 48.8% YoY ในไตรมาส 1/59 ตามลำดับ
ทิศทางที่ดีขึ้นของปริมาณการส่งออกดังกล่าว อาจนับเป็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย ที่เข้ามาช่วยเสริมแรงหนุนเดิมที่มาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐ [จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ +15.4% YoY ดัชนีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ +17.7% YoY และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล +8.3% YoY ในไตรมาส 1/59] หลังจากที่แรงกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนจากปัจจัย/มาตรการระยะสั้นต่างๆ ทยอยสิ้นสุดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลงมาที่ร้อยละ 0.1 YoY ในไตรมาส 1/2559 ขณะที่ รายจ่ายสินค้าคงทนกลับมาหดตัวในอัตราที่ลึกขึ้นที่ร้อยละ -8.5 YoY
ในไตรมาส 2/2559 จุดสำคัญยังอยู่ที่การกระจายอานิสงส์ของมาตรการและการใช้จ่ายของภาครัฐไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น หนึ่งในโจทย์สำคัญของไตรมาส 2/2559 จึงยังคงอยู่ที่การพลิกฟื้นกำลังซื้อและรายได้ของครัวเรือน โดยเฉพาะการบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่อาจจะกดดันรายได้ครัวเรือนเกษตรกร และความเคลื่อนไหวของทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ภายหลังจากราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้น
นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ณ ขณะนี้ ยังคงไม่กระจายครอบคลุมออกไปยังสินค้าส่งออกตัวสำคัญอื่นๆ (ที่นอกเหนือไปจากการส่งออกทองคำ และรถยนต์) เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย น่าจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ ตราบใดที่สัญญาณของเศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะจีน) ยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัว และอาจจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี นอกจากนี้ โครงสร้างภาคการผลิตของไทยอาจจะยังเป็นข้อจำกัดของการตอบโจทย์ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ขณะที่ ราคาน้ำมัน/โภคภัณฑ์ในตลาดโลก ที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันปีก่อน จะยังคงเป็นตัวฉุดมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง
สำหรับแนวโน้มภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงถ่วงจากความอ่อนแอของกำลังซื้อในภาคครัวเรือน และการส่งออกที่ยังน่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงร้อยละ 2.8 (YoY) อย่างไรก็ดี แรงกระตุ้นจากงบกลางปี มาตรการและโครงการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงอานิสงส์จากปัจจัยเชิงฤดูกาลที่จะช่วยหนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว น่าจะช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย น่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0 ในปีนี้
ข่าวเด่น