วันนี้ (29 เมษายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับช่วงนี้มีพายุฤดูร้อน ทำให้บางพื้นที่มีฝนตก ลมกระโชกแรง และอาจเกิดฟ้าผ่าได้ ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการขับรถฝ่าฝนในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง เพราะช่วงฝนตก จะมีลมแรง ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นน้อยลง และอาจมีเศษวัสดุ กิ่งไม้ ลอยตามลมพายุ ที่สำคัญถนนจะลื่นกว่าปกติอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางควรตรวจสอบสภาพรถก่อนขับรถ เพื่อให้รถมีความพร้อมที่สุดโดยตรวจเช็ค เบรค ยางล้อ ที่ปัดน้ำฝน แตรรถ ไฟรถ หากมีปัญหาสายตา เช่น สั้น ยาว เอียง ควรใส่แว่นตลอดเวลาที่ขับรถ รถจักรยานยนต์ไม่ควรเดินทางขณะฝนตกและลมแรง เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ขณะเกิดฝนตกและลมกระโชกแรง ประชาชนไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวัง เรื่อง ฟ้าผ่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง มีรายงานผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2554-2558) จำนวน 154 ราย (เฉลี่ยปีละ 31 ราย) และเสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร สถานที่ส่วนใหญ่เป็นบริเวณนา ไร่ สวน ร้อยละ 67.6 เดือนที่เกิดเหตุสูงสุดคือพฤษภาคม ร้อยละ 33.8 รองลงมาคือเมษายน ร้อยละ 22.7 ช่วงเวลาเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นเวลาในช่วงบ่ายถึงเย็น จากข้อมูลเฝ้าระวังดังกล่าว เฉพาะปี 2558 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า 32 ราย เสียชีวิต 12 ราย (มีรายงานสูงสุดในรอบ 5 ปี)
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไป ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายในระบบเฝ้าระวัง 33 แห่งเท่านั้น ยังมีผู้ถูกฟ้าผ่าที่เสียชีวิตทันที หรือบางรายบาดเจ็บไม่รุนแรง ไม่ได้มาโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคน แต่ก็เป็นอันตรายได้หากอยู่ใกล้สิ่งที่ฟ้าผ่า กระแสไฟจากสิ่งที่ฟ้าผ่าอาจพุ่งเข้าสู่คนที่อยู่ใกล้ได้หลายทาง เช่น ผ่านเสื้อผ่าหรือตัวที่เปียก โลหะที่ใส่ โครงเสื้อชั้นใน ลวดจัดฟัน สร้อยโลหะ อุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน มือถือ เป็นต้น ดังนั้น การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งขณะฝนตกฟ้าคะนอง หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทั้งทองคำ เงิน ทองแดง นากและสร้อยโลหะ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรนั่งยอง ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง
2.ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ 3.ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า 4. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และ 5.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่า และสถานที่เกิดเหตุ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากสถานที่โดนฟ้าผ่าไปยังที่ปลอดภัย ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันทีโดยการกดหน้าอกในตำแหน่งตรงกลางให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว จนกว่าหัวใจจะเต้น คลำชีพจรได้ หรือมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ข่าวเด่น