ฟิทช์ เรทติ้งส์มองว่าการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) จะได้รับอำนาจมากขึ้นในการกำกับดูแลกิจการเป็นการพัฒนาการที่ดีในด้านการกำกับกิจการ
สถาบันการเงินเฉพาะกิจของประเทศไทยเป็นหน่วยงานภายใต้การควบคุมของรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายเฉพาะกิจเพื่อดำเนินกิจการตามนโยบายของรัฐบาล โดยประกอบด้วย 8 สถาบันการเงิน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GH BANK) ธนาคารออมสิน (GSB) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (TCG) สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นส่วนสำคัญของระบบการเงินไทย โดยมีสัดส่วนเงินฝากรวมที่ 25% ของเงินฝากของระบบและมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนคิดเป็น 29% ของสินเชื่อภาคครัวเรือนทั้งหมดของระบบ
กระทรวงการคลังจะโอนหน้าที่ในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ซึ่งการโอนหน้าที่ดังกล่าวจะส่งผลให้ลดปัญหาความขัดแย้งในบทบาทของกระทรวงการคลังที่มีฐานะเป็นทั้งผู้ถือหุ้น ผู้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน และยังเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ฟิทช์คาดว่าการโอนอำนาจในการกำกับดูแลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและความโปร่งใสในการกำกับดูแล อีกทั้งยังทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินจะได้รับการกำกับดูแลภายใต้มาตรฐานที่สอดคล้องและใกล้เคียงกับมาตรฐานในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งเน้นที่กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ธรรมาภิบาล และฐานะเงินกองทุนและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านของสภาพคล่องให้สอดคล้องกับเกณฑ์ Basel II (แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความแตกต่างอยู่บ้างกับเกณฑ์ Basel III ที่ใช้สำหรับกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์)
กระทรวงการคลังยังมีแผนจะจัดตั้งกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีกระบวนการในการเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนที่คล้ายกันกับของสถาบันคุ้มครองเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์ แต่อัตราการจัดเก็บเงินนำส่งจะต่ำกว่ามาก โดยจะอยู่ที่ 0.18% ของเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เทียบกับอัตรา 0.47% สำหรับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยเป็นการทั่วไปทั้ง 4 แห่ง คือ BAAC, GSB, GH BANK และ IBANK จะต้องนำส่งเงินให้แก่กองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยกระทรวงการคลังมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจมาเพื่อใช้ในการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในกรณีที่ธนาคารเหล่านั้นประสบปัญหาทางการเงิน
ฟิทช์มองว่าแผนในการจัดตั้งกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะช่วยลดภาระทางด้านการคลังในกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องการความช่วยเหลือ (แม้ว่ารัฐบาลจะยังมีแนวโน้มที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีที่เงินทุนจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่เพียงพอ) นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวยังช่วยให้การสนับสนุนแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้นใน กรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะต้องมีการเพิ่มทุนอย่างเร่งด่วน ในปัจจุบันเงินทุนที่ใช้เพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมาจากงบประมาณของรัฐบาลซึ่งต้องใช้เวลาบ้างในการอนุมัติ
นอกจากนี้การจัดเก็บเงินนำส่งจากเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะช่วยลดความได้เปรียบในด้านต้นทุนในการแข่งขันในการระดมเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความได้เปรียบเหนือธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้การแข่งขันด้านเงินฝากระหว่าง สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายในการจัดตั้งและบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ฟิทช์ยังคงเชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงให้การสนับสนุนพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวเนื่องจากบทบาทที่สำคัญในการดำเนินกิจการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตของสถาบันการเงินที่ฟิทช์มีการจัดอันดับ
ข่าวเด่น