ราคาน้ำมันดิบลดราว 3 เปอร์เซ็นต์ หลังปริมาณการผลิตจากโอเปก และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานบมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2559
+ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ หลังปริมาณการผลิตจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (โอเปก) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุด โดยปริมาณการผลิตในเดือน เม.ย.ปรับเพิ่มขึ้น 170,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากอิหร่านหลังมาตรการคว่ำบาตรสิ้นสุดลง และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากอิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ดีปริมาณการผลิตจากคูเวตลดลงเนื่องจากเหตุการประท้วง และปริมาณการผลิตจากไนจีเรีย และเวเนซูเอล่าที่ลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่ง และปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
+ Genscape รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่จุดส่งมอบบริเวณคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 821,969 บาร์เรล นอกจากนี้ Reuters คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ โดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
+/- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ต่อเนื่องกัน โดยในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 เม.ย. จำนวนแท่นขุดเจาะลดลง 11 แท่น มาอยู่ที่ 332 แท่น โดย Baker Hughes มองว่าจำนวนแท่นขุดเจาะจะค่อนข้างทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ Morgan Stanley ประเมินว่าปริมาณหลุมขุดเจาะจะถึงจุดต่ำสุดในอีกไม่นาน
ราคาน้ำมันเบนซิน และราคาน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์ปิดเนื่องในวันหยุดชดเชยวันแรงงาน (วันจันทร์ที่ 2 พ.ค. 59)
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหว 4-47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ44-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ (ณ วันที่ 22 เม.ย.) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 332 แท่น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 540.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินและปิดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นกว่า 292,000 บาร์เรลต่อวัน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องและส่งผลกดดันราคาน้ำมันน้อยลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมและยังคงไม่รีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วนี้
ข่าวเด่น