กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำร่างยุทธศาสตร์พ.ศ. 2559-2568 เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอันดับ 1 ของโลก สนองนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์วิชาการวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร โดยเพิ่มบริการตากอากาศด้วย คาดสร้างรายได้ปี 57 เข้าประเทศกว่า 140,000 ล้านบาท
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส. ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์พ.ศ. 2559-2568 เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติสนองนโยบายรัฐบาล มี 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) มีบริการรักษาพยาบาลแบบครบวงจร
2.การเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ได้แก่ นวดไทยเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อเสริมสวย สปาน้ำพุร้อน สปาทางการแพทย์ (Medical Spa) เพื่อบำบัดรักษาสุขภาพและความสวยงาม เช่น ศัลยกรรมตกแต่งความงาม การบำบัดด้วยสมุนไพร นวดกดจุด ฝังเข็ม เป็นต้น สถานที่ตากอากาศเพื่อสุขภาพ (Health Resort) เช่น การรักษาโรคสะเก็ดเงินโดยแสงแดด 3.การเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) เช่น มีการประชุมวิชาการนานาชาติ มีหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติ ส่งเสริมการทำวิจัยสร้างความเชี่ยวชาญการรักษาโรคต่างๆ ที่เป็นปัญหาระดับโลกและภูมิภาค และ4.การเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) เช่น การผลิตสมุนไพรไทย จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ลูกประคบ น้ำมันหอม
“ขณะนี้ประเทศไทย ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลขอสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมท่องเที่ยว ปี2555 จำนวน 22 ล้านกว่าคน เพิ่มเป็น 29 ล้านกว่าคน ในปี 2558 ล่าสุดในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 3 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2558 ร้อยละ 15 ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น จีน มาเลเชีย เป็นต้น รองลงมา อเมริกา และเอเชียใต้ โดยในส่วนของบริการสุขภาพ คาดการณ์ในปี 2557 สร้างรายได้กว่า 140,000 ล้านบาท และคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับความเชื่อถือ และยอมรับจากชาวต่างชาติว่าเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าว
ทั้งนี้จุดเด่นของประเทศไทย ที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ มีทั้งแพทย์ที่มีความชำนาญระดับสากล บุคลากรมืออาชีพ บริการด้วยน้ำใจ สุภาพ เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีเครื่องมือที่ทันสมัย ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าประเทศอื่น และที่สำคัญที่สุด คือ สถานพยาบาลของไทยได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล ที่เรียกว่า เจซีไอ (JCI) ถึง 53 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน และมีสถานพยาบาลผ่านการรับรองคุณภาพ เอชเอ (HA) กว่า 800 แห่ง หรือกล่าวได้ว่าคุณภาพของไทยทั้งดีและถูก แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ยังมีผู้เข้ามาใช้บริการปีละกว่า 100,000 คน ซึ่งประเทศที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุดคือประเทศพม่า รองลงมาก็คือประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ดีก็ยังเดินทางเข้ามารับบริการในไทยเช่นกัน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งมีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวปีละกว่า 8,000,000 คน ได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เจซีไอ พร้อมให้บริการชาวต่างชาติรวม 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลสิริโรจน์ และซี สไมล์ เดนทัล คลินิก เช่น การผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดข้อกระดูก ศัลยกรรมแปลงเพศ เสริมความงามและทันตกรรม อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบต่อบริการของภาครัฐ เนื่องจากชาวต่างชาติจะใช้บริการสถานพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการดึงบุคลากรจากภาครัฐไปใช้ในเอกชน โดยส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือกันมากกว่า
ข่าวเด่น