พาณิชย์เดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ นำร่องกว่า 10 สินค้า หวังดันเปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลก ทั้งฝ้าย ชา กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และข้าวไรซ์เบอรี่ เผยล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ 364 ราย มีผลผลิต 1 พันตันข้าวเปลือก สามารถจำหน่ายได้หมดแล้ว และผลผลิตฤดูหน้าก็มีคนตีตราจองแล้ว เตรียมผนึกอาเซียนจัดงานเกษตรอินทรีย์ 28-31 ก.ค.นี้ เล็งจับมือ Biofach จัดงานที่เยอรมันปีหน้า
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะพัฒนายกระดับมาตรฐานและรูปแบบของสินค้าอินทรีย์ใหม่ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลก รองรับความต้องการสินค้าที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาสินค้าอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด เช่น ฝ้าย ชา ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนประสบความสำเร็จได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในระดับส่งออก และกำลังขยายไปสู่สินค้ากาแฟ เม็ดมะม่วง หิมพานต์ รวมถึงข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ที่จะทำการผลักดันให้มีมาตรฐานและส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป
“กระทรวงฯ มีเป้าหมายในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งในเชิงปริมาณ ด้วยการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ และเชิงคุณภาพ ด้วยการผลักดันให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ไทย หลุดจากกับดักการซื้อขายสินค้าปริมาณมากในราคาต่ำ มาเป็นการขายสินค้าที่มีเรื่องราว มีมูลค่าเพิ่ม และ ได้ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น”
สำหรับการพัฒนาข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ล่าสุดทางด้านการผลิต มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 364 ราย โดยแบ่งเป็น 17 กลุ่ม จาก 13 จังหวัด รวมพื้นที่ 4,659.3 ไร่ มีผลผลิตในฤดูกาลผลิต 2558/59 ประมาณ 1,000 ตันข้าวเปลือก ซึ่งได้เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ และอยู่ระหว่างการตรวจรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่จะให้การรับรองมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์สากล (IFOAM)
ส่วนในด้านการตลาด เกษตรกรทั้ง 17 กลุ่ม ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ในตลาด และตั้งชื่อว่า สมาคมเกษตรอินทรีย์ “คำนึง” โดยร่วมกันขายสินค้าภายใต้การแบ่งมาตรฐานสินค้า (เกรด) เดียวกันและใช้ตราสินค้าเดียวกัน คือ “คำนึง” เพื่อทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้ ผลผลิตในฤดูกาลที่ผ่านมา มีตลาดรองรับทั้งหมด และมีตลาดรอรับซื้อผลผลิตในฤดูการผลิตต่อไปแล้ว โดยได้ลงนามสัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้ากับ บริษัท โรงสี ตงเม้ง (ประทาย) จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 500 ตัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” ที่ผลักดันให้เกิด ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร
นางสาวชุติมากล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์อื่นๆ กระทรวงพาณิชย์ ได้ผลักดันให้เกิดหมู่บ้านอินทรีย์ หรือออร์แกนิค วิลเลจ (Organic Village) และส่งเสริมให้เกษตรกร ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอย่างแท้จริง และอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ฉบับใหม่ ระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อผลักดันมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ที่ใช้ในประเทศให้เทียบเท่ากับมาตรฐานระดับสากล
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานกับ 9 ประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ระดับนานาชาติในประเทศไทย และถือเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนด จัดงาน Organic & Natural Expo 2016 ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และในปีหน้ามีแผนที่จะยกระดับการจัดงานไปสู่ระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับ ผู้จัดงาน Biofach ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดที่ เมืองนูเร็มเบิร์ก ประเทศเยอรมนี มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 2,000 ราย และมีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 50,000 คน โดยกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการหารือและเตรียมความพร้อมในการจัดงานร่วมกับผู้จัดงาน Biofach
ปัจจุบันมีมูลค่ารวมสูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือเยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 235,523 ไร่ มีฟาร์มที่ผ่านการรับรอง 9,961 ฟาร์ม คิดเป็น 0.15 % ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ มีมูลค่าตลาด 2,331 ล้านบาท และมีตลาดส่งออกเกษตรอินทรีย์ไทยที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และ สิงคโปร์
ข่าวเด่น