นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2559 เป็นปีที่ต้องเผชิญกับ "วิกฤติภัยแล้ง" ที่รุนแรง และต่อเนื่องยาวนานในหลายพื้นที่ กลุ่ม ปตท. ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย และได้ตั้งเป้าดำเนินโครงการช่วยเหลือภัยแล้งอย่างจริงจัง โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะเร่งด่วน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยโดยทันที เช่น กลุ่ม ปตท. ได้ให้การสนับสนุนโครงการราษฎร์-รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 รวมยอดเงินช่วยเหลือถึง 71.8 ล้านบาท โครงการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อสนับสนุนโครงการฝนหลวง (ปี 2541 – ปัจจุบัน) จำนวน 9,060 ตัน มอบถังบรรจุน้ำแข็งแห้ง 38 ถัง รวมมูลค่ากว่า 72.4 ล้านบาท และยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิง 200,000 ลิตร แก่กองทัพไทย แก้ปัญหาภัยแล้ง มูลค่า 4.4 ล้านบาท เป็นต้น
2. ระยะกลาง เป็นระยะที่เน้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การเป็นคณะทำงานโครงการพิเศษ Water Resource Management (ปี 2554 – ปัจจุบัน) ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) การร่วมโครงการแบ่งน้ำใช้ปันน้ำใจสู้ภัยแล้งร่วมกับสภาหอการค้า ภาคเอกชนในเครือข่าย และสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ลดการใช้น้ำ 30% ภายในเดือนพฤษภาคม 2559
3. ระยะยาว เป็นการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนด้วยการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและการใช้น้ำในอาคารสำนักงาน และการสร้างองค์ความรู้และการป้องกันภัยแล้งระยะยาวผ่านโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายประเสริฐ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ได้บริหารงานด้านการใช้น้ำในภาคการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดผลกระทบต่อวิกฤติภัยแล้งโดยรวมของประเทศ โดยนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาใช้วางแผนและกำหนดพื้นที่ความเสี่ยงน้ำ (Water Stress Map) อีกทั้งใช้ระบบฐานข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และประยุกต์ใช้เครื่องมือ Global Water Tool (GWT) ของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ WBCSD เพื่อเก็บข้อมูลการใช้น้ำของพื้นที่ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมของ ปตท.
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ ปตท. อีกทั้งจังหวัดชลบุรีและระยอง เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านน้ำสูง ภายหลังเกิดเหตุการณ์ขาดแคลนน้ำ ในปี 2548 ปตท. จึงให้ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำทุกระยะ รวมถึงผลการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันยังมีส่วนร่วมในคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกของจังหวัดระยอง หรือ Water War Room เพื่อลดความเสี่ยงได้ทันท่วงที โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุปโภค-บริโภค ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต เพื่อการรองรับปริมาณการใช้น้ำในอนาคตให้เพียงพอและยั่งยืน
นอกจากนี้ ในปี 2559 กลุ่ม ปตท. ยังได้มีโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องชาวไทยอีก เช่น การบริจาคน้ำดื่มเพื่อการบริโภคจำนวน 200,000 ขวด มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท โครงการร่วมกับมูลนิธิเย็นศิระเพราะพระบริบาล กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใยผู้ประสบภัย บริจาคถุงยังชีพและน้ำดื่ม โครงการฟื้นป่ารักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด เป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน โครงการมอบถังน้ำ InnoPlus เป็นต้น
นายประเสริฐ กล่าวสรุปว่า กลุ่ม ปตท. เตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคที่อาจจะประสบภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และภัยหนาว ซึ่งนำความเสียหายมาสู่พี่น้องไทยมาอย่างมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ข่าวเด่น