วันนี้( 4 พ.ค.59) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำและโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และคณะญาติพี่น้องผู้สูญเสียหรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อป.ป.ช.เพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือ ซึ่งในการยื่นหนังสือครั้งนี้มีทหารเข้าสังเกตการณ์พร้อมถ่ายรูปกลุ่มมวลชน
นายนิติธร กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทบทวนการพิจารณาถอนฟ้องคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวเอาไว้ โดยในมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิจารณา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น อย่างไรก็ดีหาก ป.ป.ช. ยื่นถอนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจริง ต้องมีการฟ้องร้องกันใหม่อยู่ดี ส่วนที่ระบุว่าได้พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้น หากผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานใหม่ตามที่อ้างก็ควรให้ไปยื่นหลักฐานนั้นต่อศาลจะเหมาะสมกว่า
ดังนั้น ป.ป.ช. จำเป็นต้องทบทวนและยุติเรื่องนี้ เพราะถ้าทำต่อจะมีการฟ้องร้องกรรมการ ป.ป.ช. และต้องพิจารณาต่ออีกประเด็นว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. (จำเลยคดีดังกล่าว) จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องดูว่าประธาน ป.ป.ช. จะพิจารณาเรื่องนี้ได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯจะหารือกับสภาทนายความที่เป็นทนายผู้รับผิดชอบคดี และจะหารือกับพี่น้องประชาชนเพื่อขอรับฟังการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯด้วย
“อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยหลายประการ ด้วยระยะเวลาที่กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่เดือน เชื่อว่าไม่สามารถอ่านสำนวนคดีนี้ได้ทันอย่างแน่นอน ขอให้กลับไปอ่านให้ดีว่ากรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่แล้ พิจารณาสำนวนคดีนี้บกพร่องตรงไหน อย่างไร เนื่องจากศาลฎีกาฯรับฟ้องแล้ว ถือว่าคดีมีมูลอย่างแน่นอน อย่ามาทำลายความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะลำบากไปด้วย ต้องรื้อกรรมการสรรหาใหม่ และกรรมการสรรหาชุดนี้ต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันด้วย” นายนิติธร ระบุ
เมื่อถามว่า การกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อการสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯของ ป.ป.ช. หรือไม่ นายนิติธร กล่าวว่า ต้องกลับไปปรึกษาว่าจะยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา และประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาหรือไม่ นอกจากนี้ จะขออนุญาตในการเข้าไปฟังการพิจารณาคดีทุกครั้ง หลังจากนี้ขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยคำฟ้องต่อสาธารณชนทั้งหมด และขอให้เปิดเผยหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยทั้ง 3 ราย ว่ามีสาระสำคัญเพียงที่ ป.ป.ช. ต้องนำมาพิจารณาเอง และบัญชีพยานที่ยื่นใหม่มีใครบ้าง ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตถึงพยานฝ่าย ป.ป.ช. ที่ไม่ได้เดินทางมาไต่สวนที่ศาลฎีกาฯ ทำไมถึงไม่เดินทางมาด้วย
ข่าวเด่น