รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งทุกหน่วยเร่งเตรียมพร้อมฤดูการผลิตใหม่ของเกษตรกร กรมชลฯ ชี้ผลพวงพายุฤดูร้อนส่งผลน้ำเข้าเขื่อนรวม 94 ล้านลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร แจงมาตรการ 1 และ 4 แก้ภัยแล้งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 2,132 ล้านบาท
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูการเพาะปลูกใหม่ของเกษตรกรปี 2559/60 ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านปัจจัยการผลิต การกำกับตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริมองค์ความรู้เกษตรกรในการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม รวมถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการเข้าสู่ช่วงฤดูการเพาะปลูก หรือฤดูฝนอย่างเป็นทางการนั้นต้องรอยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่จะประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าได้สิ้นสุดฤดูการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว(1 พ.ย. 58 – 30 เม.ย. 59) สถานการณ์น้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก ณ 1 พ.ค. 59 มีปริมาณน้ำคงเหลือน้ำใช้การได้ 1,785 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก และใช้อาคารชลประทานต่างๆควบคุมน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะยังคงระบายน้ำรวมกันไม่เกินวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสวนผลไม้ให้เพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 ส่วนการปลูกข้าวในที่ลุ่มแนะนำให้รอกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนในที่ดอนแนะนำให้ปลูกได้ในเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาในช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากพายุฤดูร้อน นั้น พบว่ามีเขื่อนหลายแห่ง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น(ระหว่าง 25 เม.ย. – 2 พ.ค. 59) ประมาณ 94 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นฝนธรรมชาติประมาณ 62 ล้าน ลบ.ม. และจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงประมาณ 32 ล้านลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย การใช้น้ำจะยังเน้นเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.77 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 14.74 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 3.28 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.65 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 5.03 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึง ผลการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรังในรอบปี 2558/59 ซึ่งแบ่งการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเป็น 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกฯ และเห็ด พื้นที่ 2.854 ล้านไร่ เกษตรกร 540,767 ราย มูลค่ารวมประมาณ 21,996 ล้านบาท ขณะที่การปลูกนาปรังจะมีมูลค่า 13,819 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 8,177 ล้านบาท
ขณะที่การประมาณการผลผลิตและมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐในมาตรการที่ 1 และมาตรการที่ 4 พบว่า จากงบประมาณรวม 659 ล้านบาท เกษตรกร 197,759 ราย พื้นที่ 0.361 ล้านไร่ เกิดมูลค่าผลผลิตรวม 2,132 ล้านบาทแบ่งเป็น มาตรการที่ 1 งบประมาณดำเนินการ 356 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรจำนวน 0.298 ล้านไร่ เกษตรกร 15.,552 ราย มูลค่าผลผลิต 1,689 ล้านบาท มาตรการที่ 4 งบประมาณ 302 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรจำนวน 0.063 ล้านไร่ มูลค่าผลผลิต 443 ล้านบาท
ข่าวเด่น