นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนองนโยบายของรัฐที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิด “Digital Economy” ที่มีการปรับโครงสร้างการค้าสู่การบริการ (Trade in Service) และเพื่อเป็นการผลักดันธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจภาพยนตร์และบันเทิงในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศในเชิงรุกได้ กรมจึงได้จัดโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจบันเทิงไทย (Thai Night) และเจรจาการค้าในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Cannes Film Festival 2016 ครั้งที่ 69 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อขายภาพยนตร์ แอนิเมชั่น การว่าจ้างผลิตชิ้นงาน และการร่วมลงทุนในการผลิตผลงานร่วมกัน ระหว่างวันที่ 11 - 22 พฤษภาคม 2559
ในปี 2559 การส่งเสริมภาพลักษณ์และพัฒนาตลาดภาพยนตร์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Cannes Film Festival ประกอบด้วย งานไทยไนท์ ครั้งที่ 8 ในวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล คาร์ลตัน คานส์ โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธาน เพื่อประชาสัมพันธ์ แสดงศักยภาพและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการซื้อขาย เจรจาการค้า การลงทุน การร่วมผลิตระหว่างประเทศและขยายความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจของไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือในการผลิตภาพยนตร์ การขายภาพยนตร์ การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย การรับจ้างบริการการทําเทคนิคพิเศษหลังกระบวนการถ่ายทํา โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 250 ราย ประกอบด้วยนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ซื้อภาพยนตร์ สื่อมวลชนในต่างประเทศ ผู้มีชื่อเสียง (Celebrity) ผู้กำกับไทย ผู้ประกอบการไทย (ที่เข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2016) และลูกค้าเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด Thailand Where Films Come Alive: Thaiconic โดยคำว่า Thaiconic เป็นการรวมของคำว่า Thai และ Iconic หมายถึง ประเทศไทยมี Icon ที่ชูศักยภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงและคอนเทนท์ไทยที่สำคัญ ได้แก่ ด้าน Talent, Production, Location, Post Production & Computer Graphic และ Hospitality
อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือการเจรจาการค้าของผู้ประกอบการไทย ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Cannes Film Festival 2016 ระหว่างวันที่ 11 - 20 พฤษภาคม 2559
โดยกรมนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย บริษัท กลองชัยพาณิชย์ จำกัด บริษัท ก้าวไทยทะยาน จำกัด บริษัท เบเนโทน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไฟล์สตาร์โปรดักชั่น จำกัด บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด บริษัท พระเกศ ฟิล์ม จำกัด บริษัท สหมงคงฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท แฮนด์เมด ดิสทรีบิวชั่น จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เดอะ ริเวอร์แคว บริด์จ ฟิล์ม โดยคาดการณ์มูลค่าเจรจาการค้าประมาณ 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2558 ธุรกิจภาพยนตร์ไทยมีมูลค่าตลาดรวมราว 35,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 86,000 คน ประกอบด้วย นักลงทุน ผู้อำนวยการผลิต บริการเช่า แต่งหน้า ออกแบบเครื่องแต่งกาย ภาพยนตร์ และนักการตลาด และมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ประมาณ 21,500 บริษัท
ข่าวเด่น