เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อสุ่มทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์จากตัวอย่างไส้กรอกในท้องตลาด 15 ตัวอย่าง พบ 14 ยี่ห้อ หรือกว่าร้อยละ93.33 มีการเจือปนของสารดังกล่าว
นักวิชาการฯ กล่าวต่อไปว่า ไส้กรอกร้อยละ73.33 หรือจำนวน 11 ยี่ห้อใส่สารไนเตรทและไนไตรท์ไม่เกินมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด ส่วน 3 ยี่ห้อ หรือร้อยละ 20 พบปริมาณสารดังกล่าวเกินมาตรฐาน
“สารไนไตรท์และไนเตรทคือดินประสิว ใช้เพื่อฟอกสีเนื้อสัตว์ให้มีสีสด ถือเป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่งโดยใช้วัตถุกันเสีย และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเสียเร็ว ซึ่งยังไม่มีผลแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน สำหรับคนที่แพ้สารดังกล่าวก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน” นางสาวมลฤดีกล่าวและว่า “ตอนนี้ไส้กรอกกลายเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ จึงต้องการเตือนให้ผู้บริโภคบริโภคแต่น้อย อย่าบริโภคเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย”
ด้าน น.ส.สารี อ๋อง สมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า การรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ท้องเสียรุนแรง ยิ่งผู้ที่มีอาการแพ้อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หมดสติหรือเสียชีวิตได้ และที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าการรับประทานอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ในปริมาณมากเกินไปอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
ดังนั้น ขอให้ประชาชนเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และตรวจสอบข้อมูลโภชนาการทุกครั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานกลุ่มที่มีการผสมสารกันบูดในอัตราที่เกินกำหนด หรือไม่ควรมีการผสมสารดังกล่าวเลย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้มพบ.จะมีการส่งหนังสือไปยังบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อแจ้งผลการทดสอบและขอให้มีการปรับปรุงการใช้สารผสมในอาหารให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ได้มาตรฐานด้วย
“ผู้บริโภคมีข้อจำกัดว่าถ้าอยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูดจะเลือกยังไง เพราะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนก็อยากกินไส้กรอกที่ไม่มีสารกันบูด นี่จึงเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของ และพลังของผู้บริโภคจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อคุณซื้อหรือไม่ซื้อสินค้านั้นๆ” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า หวังว่าไส้กรอก 3 ยี่ห้อที่พบสารไนเตรทและไนไตรท์เกินมาตรฐาน ทาง อย.จะดำเนินการจัดการ เพราะ อย.มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานอาหาร ส่วนการแสดงฉลาก มีเพียง 6 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูล แต่เป็นการแสดงข้อมูลโดยใช้รหัส ซึ่งผู้บริโภคเข้าใจได้ยาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ฉลากเป็นมิตรกับผู้บริโภคว่าเห็นแล้วรู้ว่ายี่ห้อนี้ใส่สารกันบูดหรือไม่
ทั้งนี้ ค่ามาตรฐานตามประกาศของ อย.อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มไส้กรอกและแฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนค่าไนไตรท์ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือหากใช้สารทั้ง 2 ชนิดให้ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ข่าวเด่น