ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนหลีกเลี่ยงชวนกันกินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ


 


วันนี้ (4 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวันนี้ ประชาชนก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดจำนวนมาก มีการพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆ อาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การนิยมบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้านและนำมากิน เพราะเชื่อว่ารสชาติอร่อยกว่าเนื้อสุก และเชื่อว่าเครื่องปรุงต่างๆ เช่น พริก เกลือ น้ำมะนาว จะทำให้เชื้อโรคและพยาธิที่อยู่ในเนื้อหมูตาย ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) และมีโอกาสหูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ 
 
 
        
 
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–24 เม.ย. 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 62 ราย เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 45-54 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ น่าน และอุทัยธานี ตามลำดับ  ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคเหนือทั้งหมด ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด ก็คือภาคเหนือเช่นกัน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หูดับในภาคเหนือสูงถึง 44 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของผู้ป่วยทั้งหมด ที่สำคัญผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน โดยเมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา พบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆ มักจะมีการสังสรรค์และดื่มสุราร่วมกับการกินเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก เป็นต้น
         
 นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การกินหมูดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค และหลังจากได้รับเชื้อ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน บางรายไม่รู้สึกตัว ชักกระตุก เป็นอัมพาต อาจมีเยื่อบุหัวใจ ปอดอักเสบ สายตาพร่ามัว มีโอกาสหูหนวกถาวร ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต
          
การป้องกันการติดโรค 1.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมูสัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังงานเสร็จให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และดูแลฟาร์มเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ  2.ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
 
และ 3.ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่กินเนื้อและเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ  ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบด้วย เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ค. 2559 เวลา : 18:15:57

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:13 am