กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปั้นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ตั้งเป้ายกระดับพื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ จ.ระยอง จ. สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี เพื่อยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องจังหวัดระยองพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นแห่งแรก ผ่าน 109 โครงการ ด้วยงบประมาณ 9,455.66 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี และคาดว่าจะสามารถยกระดับทั้ง 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2563
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อปี 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและชุมชน เพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม 5 จังหวัด ได้แก่ จ. สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลกับการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Well-being) ให้ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สวีเดน เดนมาร์ค อังกฤษ และญี่ปุ่น
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศดังกล่าว จะเป็นการบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม กลุ่มโรงงาน และชุมชนโดยรอบ และสร้างความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างจริงจัง เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นสุขและยั่งยืน และคาดว่าจะสามารถยกระดับทั้ง 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2563 โดยในอนาคตมีการเตรียมขับเคลื่อนตามแผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี จ.สระบุรี จ.ชลบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ราชบุรี จ.นครปฐม จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้นั้น ตัวชี้วัดที่ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินในการยกระดับพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งได้ถูกกำหนดในประเด็นต่าง ๆ อาทิ โรงงานจะต้องรายงานการประกอบการอย่างเปิดเผยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ และจะต้องรักษาระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการประกอบการอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ ISO 9001 ISO 14001 มอก. 18001 ISO 26000
ตลอดจนต้องมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประสบความสำเร็จ จะเกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การพึ่งพาอาศัยและความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างสมดุล ซึ่งเป็นยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนแท้จริง ดร.อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเริ่มนำร่องพัฒนาจังหวัดระยองเป็นแห่งแรก และสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในต้นปี 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น โรงงาน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีการบูรณาการโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทั้งหมด 109 โครงการ ด้วยงบประมาณ 9,455.66 พันล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี ประกอบด้วย โครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนท้องถิ่น จำนวน 49 โครงการ โครงการบูรณาการกลาง จำนวน 6 โครงการ และโครงการภายใต้แผนแม่บทฯ เพื่อเติมเต็มความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 54 โครงการ ซึ่งจะเริ่มต้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแห่งแรกของประเทศไทย และค่อย ๆ พัฒนาให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก และเป็นเขตพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มีการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษ แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Eco Industrial Town ได้ที่สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โทร. 02 202 4143 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th
ข่าวเด่น