กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจสายตาคนไทยล่าสุดในปี 2550 พบตาบอดกว่า 3 แสนคน สาเหตุอันดับ 1 เกือบร้อยละ 70 เกิดมาจากต้อกระจก เร่งป้องกัน โดยอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ 250,000 คน ให้เชี่ยวชาญในการใช้ “แผนอักษรตัวอี” ตรวจค้นหาผู้ที่มีความผิดปกติสายตาในชุมชน 77 จังหวัดทั่วไทย เพื่อนำเข้าสู่ระบบรักษาทันการ เน้นหนักใน 2 กลุ่มใหญ่พิเศษเสี่ยงเกิดตาบอดรวม 13 ล้านคน คือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒนธ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญในเรื่องสายตา มีนโยบายขจัดปัญหาตาบอดและสายตาเลือนรางให้หมดไปภายในพ.ศ.2563 ล่าสุดในพ.ศ. 2553 ทั่วโลกมีคนตาบอด 39 ล้านคน และมีสายตาเลือนรางมากถึง 285 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจสุขภาพสายตาครั้งล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยตาบอด 369,613 คน สาเหตุหลักร้อยละ 70 เกิดมาจากต้อกระจก ซึ่งสามารถรักษาหายขาดได้ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนซ์แก้วตาเทียม ก็จะสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนใกล้เคียงกับปกติ
แต่อย่างไรก็ตามพบว่าประชาชนบางส่วนยังเข้าไม่ถึงระบบริการ กรมสบส. จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญโรคตาโดยเฉพาะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดหลักสูตรฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. จำนวน 250,000 คนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละประมาณ 3,200 คน เพื่อร่วมทำการตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้น ค้นหาผู้ที่เป็นตาต้อกระจกที่อยู่ในหมู่บ้านชุมชนที่ดูแล ให้เข้าสู่ระบบการรักษาผ่าตัดได้อย่างทันการ ไม่มีคนตาบอดในชุมชน บรรลุตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก โดยทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลศูนย์ที่อยู่ในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในการอบรมอสม.เพื่อร่วมค้นหาผู้ที่มีสายตาผิดปกติครั้งนี้ จะเน้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำงานของดวงตา โรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ ได้แก่ โรคต้อกระจก โรคจอตา โรคต้อหิน ปัญหาตาบอดในเด็กและโรคกระจกตา วิธีการใช้ยาหยอดและยาป้ายตาที่ถูกต้อง และฝึกวิธีการตรวจสุขภาพสายตาอย่างง่าย ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยใช้แผ่นอักษรรูปตัวอี (E) ในภาษาอังกฤษ ขนาดมาตรฐาน คือกว้าง 8.4 เซนติเมตร และยาว 8.8 เซนติเมตร ตัวหนังสือมีความหนา 1.76 เซนติเมตร โดยเน้นหนักตรวจหาใน 2 กลุ่มพิเศษที่มีความเสี่ยงเป็นโรคตาต้อกระจกสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 ล้านคน จากปัญหาการเสื่อมเลนซ์ตาซึ่งเป็นไปตามวัย และผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีประมาณ 3 ล้านกว่าคน โรคนี้เลนซ์ตาจะขุ่นมัวได้เร็วกว่าปกติ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตาที่เรียกว่าเบาหวานขึ้นตา มีโอกาสตาบอดสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 30 เท่าตัว
ทั้งนี้วิธีการตรวจสายตาด้วยอักษรตัวอีนั้น สามารถใช้ได้ทุกที่ โดยให้ผู้ที่ทำการทดสอบยืนห่างจากอักษร 3 เมตร และทดสอบสายตาทีละข้าง โดยใช้อุ้มมือปิดตาสลับกัน และให้บอกทิศของของขาอักษรอี ว่าชี้ไปทิศทางไหน และหมุนแผ่นอักษรอีทดสอบทั้งหมด 5 ครั้ง หากเป็นผู้ที่มีสายตาปกติ จะสามารถบอกทิศทางของขาตัวอี ได้ถูกต้องทุกครั้ง
ส่วนผู้ที่มีสายตาไม่ปกติหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกและตาบอด จะบอกทิศทางของตัวอีได้ถูกต้องไม่เกิน 4 ครั้งหรือมองไม่เห็นเลย อสม.จะทำหนังสือส่งตัวไปตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือที่โรงพยาบาลชุนชนใกล้บ้านต่อไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่มีสายตาผิดปกติทุกคน เข้าสู่ระบบบริการดูแลอย่างทั่วถึง หากตรวจพบว่าเป็นโรคตาต่อกระจกชนิดบอด จะได้รับการผ่าตัดภายใน 30 วัน
สำหรับวิธีการถนอมสายตา ประชาชนควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา คือผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง บรอกโคลี คะน้า ตำลึง และปวยเล้ง และรับประทานผลไม้สีเหลือง สีส้ม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น มะม่วงสุก มะละกอ ช่วยป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของดวงตา ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตาเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าตา ดูทีวีในระยะห่างจากจอภาพอย่างน้อย 5 เท่าของความกว้างจอทีวี หากประชาชนมองเห็นไม่ชัดเจน สายตาพร่ามัวหรือมีอาการปวดศีรษะ ขอให้ปรึกษาอสม.ใกล้บ้านได้
ข่าวเด่น