รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ว่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เปิดเผยผลการประชุม AFMGM+3 ที่ได้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นหารือ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นพ้องว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกต่อไป สำหรับเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวได้ แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง
และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) มีข้อเสนอแนะในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียน+3
ควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโต และดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความผันผวนทาง
เศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
2. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของกลไก CMIM ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินระหว่างกันของภูมิภาคอาเซียน+3 ที่มีขนาดวงเงินรวม 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้สามารถ
ดำเนินการได้ทันทีหากมีสมาชิกขอรับความช่วยเหลือ พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าการจัดทำตัวชี้วัด (Indicators)
ที่เหมาะสมสำหรับการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนความช่วยเหลือกรณีที่สมาชิกไม่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund De-linked Portion)
3. การเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานของ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) ที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับ AMRO ที่ได้รับการยกสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเป็นหน่วยงานวิเคราะห์ ติดตาม และเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และแสดงความยินดีกับความสำเร็จของกระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงของ AMRO
ซึ่งนำโดยนาง Junhong Chang ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการคนใหม่
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI)
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออม โดยได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ซึ่งปัจจุบันได้มีการค้ำประกันตราสารหนี้แล้ว 11 ครั้งใน 5 สกุลเงิน ได้แก่ บาท รูเปียอินโดนีเซีย ดอลลาร์สิงคโปร์ ดองเวียดนาม และเปโซฟิลิปปินส์ รวมเป็นเงินค้ำประกันทั้งสิ้น 888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานระยะกลางของ ABMI ฉบับใหม่ (ABMI Medium-Term Road Map) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ABMI ระหว่างปี 2559-2562 ต่อไป
ข่าวเด่น