วันนี้ (5 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมปรึกษาหารือกับ พลเอก พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เลขาธิการ กอ.รมน.) เพื่อหาแนวทางและมาตรการลดสถานการณ์การระบาดของโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากยุงลาย ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงที่สุด
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีพ.ศ.2558 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยถึง 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย ส่วนในปี 2559 จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–1 พ.ค. 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 16,425 ราย เสียชีวิต 14 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ระยอง สมุทรสาคร ศรีสะเกษ และภูเก็ต ซึ่งในปีนี้ กรมควบคุมโรค คาดการณ์จากการพยากรณ์โรคว่า จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้นอีกและอาจมากกว่า 166,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วย 5,000-7,500 รายต่อเดือน และสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย.- ส.ค. อาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน สาเหตุจากภาวะโลกร้อนทำให้วงจรการเกิดยุงเร็วขึ้นและเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น โรคที่เกิดจากยุงลายพาหะ จึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
เป็นต้น
จากสถานการณ์โรคที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระดมเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมมือกันในการรณรงค์และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย รวมถึงการกำจัดยุงตัวแก่ ซึ่งจากการหารือในครั้งนี้ ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการทุกด้านเพื่อแก้ปัญหาโรคที่เกิดจากยุงลาย โดยมีประเด็นความร่วมมือที่สำคัญดังนี้ 1. แสดงความเป็นผู้นำในการควบคุมโรค โดยการร่วมรณรงค์ให้พื้นที่ทหารปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลาย 2. ร่วมสนับสนุนกิจกรรมการป้องกันโรคของจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ 3. สนับสนุนการปฏิบัติการควบคุมโรคในพื้นที่ที่ควบคุมโรคได้ยาก และ4. สนับสนุนให้มีแพทย์มารับการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยา (FETP) เพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การควบคุมและป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายทหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทางทหารได้ร่วมรณรงค์ช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ยุงลายขยายพันธุ์ ภายใต้โครงการ “ค่ายทหารปลอดยุงลาย” ซึ่งได้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในค่ายทหารและที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน เป็นต้น เพื่อไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง และจัดการขวดน้ำ กระป๋อง ยางเก่าหรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ รวมถึงปิดที่เก็บกักน้ำอย่างมิดชิดไม่ให้กลายเป็นแหล่งที่ยุงลายวางไข่ เพื่อให้พื้นที่ทหารปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะให้การสนับสนุนบุคลากร จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากยุงลายให้กับฝ่ายทหารเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดมีความตระหนักถึงภัยของโรคและมีความรู้เรื่องการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกต้อง ซึ่งด้วยความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่การลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญจะสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนการผลักดันเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรณรงค์ “ประชารัฐร่วมใจ พิชิตลูกน้ำยุงลาย 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” โดยเฉพาะในหน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชน ต้องร่วมมือและเร่งรัดกำจัด กวาดล้างยุงลายพาหะนำโรคเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลางและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ตรวจจับ และคัดกรองโรคและภัยสุขภาพให้ได้อย่างรวดเร็ว การตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพด่านควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม และการพัฒนาทีมสอบสวนโรคสหสาขาวิชาชีพเคลื่อนที่เร็วด้วย
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้พัฒนานวัตกรรมใหม่เป็นชุดซอฟต์แวร์ชื่อ “ทันระบาด” เป็นเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ทันสมัย สามารถประมวลผลให้ทราบทันที สามารถใช้เตือนภัย ป้องกันควบคุมโรคที่นำโดยยุงลาย รวมทั้งได้จัดทำแอปพลิเคชั่น "พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ซึ่งประชาชนทุกคนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ได้ฟรีแล้ววันนี้ ทั้งระบบ Android และ iOS เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงจากยุงลายในบ้านและชุมชน และมีการบอกวิธีแก้ไขกำจัดลูกน้ำยุงลาย เป็นต้น
ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลายที่ดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด รวมถึงนอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง ที่สำคัญขอให้เน้นมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น