กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตั้งทีมวิศกรรมเครื่องมือแพทย์และวิศวกรโยธา 30 ทีม ประกอบด้วยส่วนกลาง 6 ทีม และภูมิภาค 24 ทีม เพื่อป้องกัน ลดผลกระทบจากพายุฤดูร้อน และภัยพิบัติฉุกเฉินทุกประเภทอย่างทันท่วงที เน้นความพร้อมดูแลความมั่นคงปลอดภัยอาคารบริการสถานพยาบาลทุกระดับ ดูแลระบบการสื่อสาร เครื่องมือแพทย์ ระบบไฟฟ้าสำรอง พร้อมปฏิบัติการ24 ชั่วโมง เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ พร้อมปรับเปลี่ยนแบบการก่อสร้างอาคารบริการให้ใช้ฝ้าเพดานชนิดเรียบทั้งหมด
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์พายุฤดูร้อนในปีนี้ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนและอาคารโรงพยาบาลหลายแห่ง ล่าสุดที่โรงพยาบาลอุดรธานี ได้รับความเสียหายหลายจุด กรม สบส.ได้ส่งทีมวิศวกรโยธา และวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์จากส่วนกลางและสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 8 จังหวัดขอนแก่น ลงไปประเมินความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของอาคารบริการ และเครื่องมือแพทย์ เป็นการด่วน
ขณะเดียวกันกรม สบส.ได้วางแผนความพร้อมการรับมือเหตุฉุกเฉินทุกประเภท ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2559นี้ พายุฟ้าคะนองจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลางและตะวันออก โดยตั้งทีมวิศวกร 30 ทีม ประกอบด้วยวิศวกรโยธา และวิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ ในส่วนกลาง 6 ทีม และส่วนภูมิภาคคือที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่มี 12 เขตครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศอีก 24ทีม พร้อมให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้โรงพยาบาลมีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพต่อการให้บริการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยตลอดเวลา
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของทีมวิศกรฉุกเฉินนี้ จะตรวจประเมินความปลอดภัยก่อนเกิดเหตุ เพื่อป้องกัน ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุดและมีความพร้อมใช้งาน และภายหลังเกิดเหตุ เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็วที่สุด โดยวิศกรโยธานั้น จะดูแลด้านการตรวจประเมินความปลอดภัยของอาคารบริการของโรงพยาบาลทุกระดับ ตรวจสอบจุดที่มีความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งลงตรวจประเมินความเสียหายและซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่ ในส่วนของทีมวิศกรรมเครื่องมือแพทย์ จะเน้นทำงาน 3 ส่วนหลักๆ ในการให้บริการประชาชน ได้แก่ การตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าสำรองของโรงพยาบาล และระบบเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งใช้ในการประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยใช้รักษาทางไกล หรือใช้สำรองหากโทรศัพท์ทั่วไปไม่สามารถใช้การได้ โดยสถานพยาบาลสามารถติดต่อประสานงานที่สำนักงานสนับสนุนเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่เกิดในช่วงนี้ พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาฝ้าเพดานพังโดยในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด มักจะพบในอาคารรุ่นเก่าๆ จึงได้ให้กองแบบแผนปรับการออกแบบก่อสร้าง โดยอาคารรุ่นใหม่ทั้งหมดจะให้ใช้เป็นฝ้าเพดานแบบเรียบทั้งหมด ซึ่งจะมีความปลอดภัยกว่ากว่าการใช้แบบทีบาร์ ในส่วนของบ้านเรือนประชาชนก็เช่นกัน หากจะติดฝ้าเพดาน ขอให้ใช้แบบเพดานเรียบ สามารถทนต่อแรงลมได้ และหากบ้านใดที่ติดฝ้าเพดานแบบทีบาร์แล้ว ในช่วงที่เกิดลมพายุ ขอให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด จะช่วยป้องกันไม่ให้ลมเข้าไปดันฝ้าเพดานได้
ข่าวเด่น