นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองฮ่องกง ถึงแผนผลักดันเศรษฐกิจฮ่องกงและผลกระทบต่อไทยว่า ฮ่องกงได้ประกาศนโยบายการคลังประจำปี 2559-2560 ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ นโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การลดภาษีลงสูงสุด 75% การอัดฉีดงบประมาณ เพื่อดึงธุรกิจการท่องเที่ยวและการถ่ายทำภาพยนตร์ และการทุ่มงบก้อนโตเพื่อส่งเสริมเงินทุน SMEs ตลอดจนมีนโยบายผลักดันด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัย ซึ่งใช้งบประมาณรวมมากกว่า 17,300 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณร้อยละ 6 ของงบประมาณรวมของประเทศ
ทั้งนี้แผนดังกล่าว สคต. ฮ่องกงวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อแผนผลักดันเศรษฐกิจฮ่องกงฉบับนี้ แม้ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทย แต่ถือเป็นตลาดที่มีนัยสำคัญทางการค้าของภูมิภาค เมื่อวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับจุดเด่นของนักธุรกิจฮ่องกงและงบประมาณที่สนับสนุนในปีนี้จะพบทั้งโอกาสและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย สคต. จึงได้เสนอแนวทางการปรับตัวรองรับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป ดังนี้
ในขณะที่ฮ่องกงมีชื่อเสียงทั้งศูนย์กลางด้านการเงิน การค้าและการขนส่ง แต่การค้าผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้น นักธุรกิจฮ่องกงส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสั่งสินค้าจำนวนน้อย เจาะเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และใช้เทคโนโลยีด้านอีคอมเมิร์ซในการควบคุมและกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ซึ่งร้านค้าต่างๆ ในฮ่องกงได้เพิ่มช่องทางการค้าทางออนไลน์เพื่อรองรับแนวทางดังกล่าวแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องดำเนินการเชิงรุกเช่นเดียวกัน ซึ่งสินค้าไทยที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดด้วยวิธีนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางมิสทีน ที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่ซื้อขายผ่านออนไลน์และแอพพลิเคชั่นการสั่งสินค้า หรือสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงข้าวหอมมะลิไทย เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันฮ่องกงมองหาผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่สำหรับการเปิดกิจการและร้านค้ามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงกว่าชาติอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลจะผลักดันการเพิ่มพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำธุรกิจภายใน 5 ปีอีกจำนวน 87,000 ยูนิต แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้หลายธุรกิจมองหาผู้ร่วมลงทุนในด้านการผลิต ซึ่งขณะนี้นักธุรกิจฮ่องกงได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเข้าสู่อาเซียนมากขึ้น และมองหาผู้ร่วมลงทุนในอาเซียน ซึ่งไทยมีความสามารถในด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ในขณะที่ฮ่องกงมีความสามารถในการขยายตลาด จึงนับเป็นโอกาสอันดีของไทยต่อไป
นอกจากนี้ไทยควรใช้โอกาสจากเขตการค้าเสรีอาเซียนและฮ่องกง (FTA ASEAN & HK) ให้มากขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือแก่ข้อตกลงทางการค้าดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเจรจา และมีพี้นที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของอาเซียน จึงควรใช้โอกาสนี้ในการขยายแนวทางความร่วมมือกับรัฐบาลฮ่องกง โดยเฉพาะด้านการลงทุน โดยกำหนดอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ธุรกิจภาพยนตร์ อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น รวมถึงฮ่องกงต้องการพัฒนาการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว เพื่อรองรับการค้าดังกล่าวควบคู่กับการขยายตลาดสู่อาเซียนด้วย
ข่าวเด่น