กรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจสาระสำคัญ เจตนารมณ์ และสิ่งที่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบยังสามารถดำเนินการได้ภายหลังร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถูกต้องตรงกัน ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และสมาคมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกใบยาสูบมีความกังวลในเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ว่ามีการกำหนดมาตรการที่กระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ นั้น
กรมควบคุมโรค ขอเรียนชี้แจงว่า เนื้อหาสาระและเจตนารมณ์ตามที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ภายหลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีการเชิญผู้แทนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงและให้ข้อมูล ซึ่งรวมถึงตัวแทนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ตัวแทนสมาคมองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการค้ายาสูบไทย เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ยังคงมุ่งหมายเพื่อลดอัตราการบริโภคยาสูบของประชาชนคนไทยโดยเฉพาะป้องกันเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ และที่สำคัญคือไม่มีบทบัญญัติใดที่เกี่ยวข้องหรือสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบเลย เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติห้ามการเพาะปลูกใบยาสูบ การจำกัดการรับซื้อใบยาสูบ การลดพื้นที่เพาะปลูก การกำหนดโควตาการเพาะปลูกและรับซื้อใบยาสูบ รวมทั้งไม่มีการบังคับให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน
เพื่อเป็นการคลายความกังวลให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ขอเน้นย้ำเพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายอีกครั้ง ในสิ่งที่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ สามารถทำได้ หรือยังได้รับการช่วยเหลือเช่นเดิม เมื่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็น การได้รับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ยาสูบ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย อุปกรณ์ คำแนะนำการเพาะปลูกพืชยาสูบจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่เงินช่วยเหลือพิเศษในการดำเนินการเพาะปลูกยาสูบทั้งจากธุรกิจยาสูบข้ามชาติ และโรงงานยาสูบของไทยเอง
นอกจากนี้ในความกังวลเกี่ยวกับการห้ามทำกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เนื่องจากกิจกรรมในลักษณะนี้ หรือที่เรียกว่า กิจกรรม CSR ซึ่งธุรกิจยาสูบข้ามชาติ หรือแม้แต่โรงงานยาสูบ ได้ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในพื้นที่ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีหลังที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้ค้าปลีกใบยาสูบ การให้ทุนหรือความช่วยเหลือในด้านต่างๆ หรือแม้แต่กิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวเกษตรกร เช่น มอบถุงยังชีพในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ วาตภัย อุทกภัย ภาวะภัยแล้ง
รวมทั้งยังสามารถบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงกิจกรรมเหล่านี้ยังคงสามารถดำเนินการได้เช่นเดิม เนื่องจากในบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ได้กำหนดยกเว้นไว้ชัดเจนให้ธุรกิจยาสูบสามารถดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร 0 2590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น