กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ชี้ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนก ยืนยันผลการสุ่มตรวจสารตกค้างในพืชผักและผลไม้ที่เผยแพร่ก่อนหน้า ไม่ใช่ตัวอย่างทั้งประเทศ ย้ำเชื่อมั่นมาตรฐาน GAP และ Q บนสินค้าเกษตรยังเป็นไปตามมาตรฐาน
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และตลาดทั่วไปมาตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้าง และเผยแพร่ผลตรวจวิเคราะห์สู่สาธารณะ นั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ขอย้ำว่าผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ควรตื่นตระหนก เนื่องจากการสุ่มเก็บตัวอย่างดังกล่าว มีจำนวนน้อยมาก ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของตัวอย่างทั้งประเทศไม่ได้ โดยตามหลักสถิติและหลักวิชาการแล้วถ้าจะให้เป็นตัวแทนทั้งประเทศได้ ต้องสุ่มเก็บมาตรวจสอบอย่างน้อย 60 ตัวอย่าง/ชนิดพืช ไม่ใช่เก็บแค่ชนิดพืชละ 1 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐานของการสุ่มตรวจ ส่งผลให้ผู้บริโภคและประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) กว่า 200,000 ราย โดยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้กว่า 70,000 ราย
ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามหลักสากล โดยมาตรฐาน GAP รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนมาตรฐาน Organic รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 2 มาตรฐานดังกล่าว จะตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกร และการบันทึกข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้า และมีการตรวจติดตามโดยเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกปี และเกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ
สำหรับการสุ่มตรวจสินค้า Q ในปี 2559 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชมาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ซึ่งได้ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 3,500 ตัวอย่าง เป็นสินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1 % ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการยับยั้งการส่งออก และยกเลิกใบอนุญาตไปแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการรับรองของกระทรวงเกษตรฯ และมั่นใจในคุณภาพของสินค้า Q ว่ามีความปลอดภัยสูง นายสมชาย กล่าว.
ข่าวเด่น