อย.ชี้ขายยาทางเว็บไซต์มีความผิด และหากมีการโฆษณาขายยา จะต้องขออนุญาตก่อน ยาอันตรายไม่สามารถโฆษณาได้ ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพก พร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาจากเว็บไซต์ เพราะเสี่ยงอันตราย ทั้งอาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยา
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย.เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคขอให้ตรวจสอบการโฆษณาขายยาทางเว็บไซต์ www.lazada.co.th พบมีการขายยาและโฆษณา Benzac 5% ละลายหัวสิวเสี้ยน สิวหัวดำ สิวหัวขาว 60 mg. , Differin + Benzac 2.5% และผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก นั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 อย.จึงได้ตรวจสอบ www.lazada.co.th พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาจำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) สกินอเรน 2) ฮีรูดอยด์ 3) แบลคมอร์ส ไบโอ ซี 4) เบนแซค เอซี 5 5) ดิฟเฟอริน6) เรติน-เอ 7) ไทเกอร์ บาล์ม 8) คลีน แอนด์ แคร์
โดยทั้ง 8 ผลิตภัณฑ์ได้ปรากฏภาพผลิตภัณฑ์และช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม ถือเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต แสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ และโฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพก ทั้งนี้ ผู้โฆษณาและผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน โดย อย. ได้มีหนังสือแจ้งระงับและเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำผิดทุกรายแล้ว
นอกจากนี้ อย.ยังได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางSocial media เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีการโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 174 เรื่อง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยา 35 เรื่อง ซึ่งมีการดำเนินการแล้วทุกเรื่อง เช่น ทำหนังสือแจ้งปิดเว็บไซต์ไปที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เฉพาะรายที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม.14(1) และ ม.20 แจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับ รวมถึงส่งเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อสืบหาผู้กระทำผิด เพื่อขยายผลไปยังแหล่งผลิตและจำหน่ายต่อไปด้วย
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งกฎหมายยังกำหนดประเภทของยาไว้ชัดเจน เช่น ห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยกเว้นเฉพาะ การขายยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา ซึ่งการกระทำผิดจากการขายยา มีหลายกรณี เช่น ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จึงต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ในการซักถามประวัติ การแพ้ยา เป็นต้น จึงขอเตือนประชาชนว่า ยามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ตหรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ข่าวเด่น