วันนี้ (12 พฤษภาคม 2559) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนปากมูล โดยมีองค์ประกอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมมีตัวแทนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคณะอนุกรรมการโดย ให้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำในลำน้ำแม่น้ำมูล ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจาณาเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างบันไดปลาโจนหรือระบบวิศวกรรมสมัยใหม่ โดยให้มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมอบหมายเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสม ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับในการก่อสร้างบันไดปลาโจน ได้อพยพเข้าและออกลำน้ำแม่น้ำมูลได้ตามธรรมชาติ รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจาณาและมีมติเห็นชอบ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพและฟื้นฟูวิถีชีวิตของราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมอบหมายเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล และเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมอาชีพ ให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนฯ ซึ่งจะได้เสนอแนะแนวทาง การฟื้นฟูวิถีชีวิตของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
รวมทั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย โดยรายละเอียดจะนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
อนึ่ง ปริมาณปลาที่พบในเขื่อนปากมูลในปีที่ผ่านมาจะพบปลาเนื้ออ่อน และปลาสร้อยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณปลากด ปลากดคัง และปลากาดำมีปริมาณลดลง โดยในปี 2558 ปริมาณปลาโดยรวมซึ่งมีจำนวนกว่า 57,700 กิโลกรัม (กิโลกรัมละประมาณ 150 บาท) จากการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านของประชาชนในพื้นที่ ทำให้มีรายได้เสริมต่อเดือนจำวนมากพอสมควร นอกเหนือจากประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ข่าวเด่น