กระทรวงอุตสาหกรรม รุกปรับโฉมผลิตภัณฑ์โอทอปรับโมเดล “ประเทศไทย 4.0” พร้อมจับมือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดำเนินโครงการ “ประชารัฐพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” นำร่อง 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี บ้านนาตีน จังหวัดกระบี่ บ้านนาตาโพ จังหวัดอุทัยธานี บ้านโพธิ์กอง จังหวัดสุรินทร์ และ บ้านหนองผือน้อย จังหวัดอุบลราชธานี โดยพัฒนาสินค้าโอทอปผนวกการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างเม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่า 10-15%
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อาทิ เครื่องจักสาน ผ้าทอมือ เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งปัจจุบันเอกลักษณ์ดังกล่าว นอกจากจะได้รับการพัฒนาเป็นสินค้าและอุตสาหกรรมพื้นบ้านแล้ว ยังสามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างบูรณาการ ซึ่งล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อดำเนินโครงการ “ประชารัฐพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยเชื่อมโยงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวของ กสอ. กับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า ในปี 2559 นี้ ได้คัดเลือกหมู่บ้านนำร่อง 5 หมู่บ้าน มาเป็นตัวอย่างในการพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วย 1) บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 2) บ้านนาตีน จังหวัดกระบี่ 3) บ้านนาตาโพ จังหวัดอุทัยธานี 4) บ้านโพธิ์กอง จังหวัดสุรินทร์ และ 5) บ้านหนองผือน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ การฝึกอบรมวิสาหกิจชุมชน เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ การศึกษาดูงาน การให้คำปรึกษาเชิงลึก ทั้งด้านการจัดการวิสาหกิจชุมชน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ฯลฯ
โดยปัจจุบันทั้ง 5 หมู่บ้านดังกล่าว มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวมกันกว่า 50 ราย โดยจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวคาดว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนตัวอย่างทั้ง 5 แห่งรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้กว่า 10-15% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปัจจุบันรวมกว่า 8.4 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ มีแนวทางในการส่งเสริมตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐ ที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พร้อมทั้งดำเนินการภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” กล่าวคือ มุ่งเน้นการพัฒนาโดยตั้งอยู่บนฐานของความได้เปรียบเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และนำมาต่อยอดด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์โอทอปกว่า 1 แสนรายการ มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวม 31,741 ราย โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 9 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีปริมาณการส่งออกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 5 โดยสินค้าโอทอปที่ส่งออกต่างประเทศมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าโอทอปหลัก 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย ของใช้และของประดับตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ดร. อรรชกา กล่าว
ด้าน พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อพท. มีบทบาทหน้าที่ในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกับ กสอ. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะบูรณาการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการเชื่อมโยงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวของ กสอ. กับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อสร้างกลไกสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชนต้นแบบ
ซึ่ง อพท. ได้พิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านไร่กองขิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน และจะเป็นพื้นที่เรียนรู้จากพื้นที่จริงสู่การปฏิบัติ โดยผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งนี้ อพท. มีแนวทางในการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวและบริการร่วมกับชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต่อไป
ข่าวเด่น